โดยปกติในการทำดิจิตอลทรานฟอร์เมชั่น หลายบริษัทก็ไม่รู้จักวัดผลอย่างไร แต่การวัดผลนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก เพราะว่าเราจะได้รู้และเข้าใจว่าสิ่งที่เรากำลังลงมือทำไปนั้นมีผลสำเร็จ หรือผลเสียที่เกิดขึ้นอย่างไร รวมไปถึงเราจะสามารถตัดสินใจได้ ว่าเรากำลังเดินไปสู่เป้าหมายที่เราต้องการจากการทำโครงการอยู่หรือเปล่า เนื้อหานี้ก็จะมาพูด 7 วิธีเพิ่ม ROI ให้ Digital Transformation โดยเจ้า ROI ก็คือ Return On Investment หรือผลตอบแทนต่อการลงทุนนั่นเอง
มีการคาดการณ์จาก Worldwide Semiannual Digital Transformation Spending Guide เอาไว้ว่า ในปี 2023 จะมีการลงทุนในด้านการทำ Digital transformation ในส่วนของเทคโนโลยีและบริการต่างๆ มากถึง 2.3 หมื่นล้าน US Dollar เลยทีเดียว และนั่นก็จะเป็นครั้งแรกของโลก ที่มีการลงทุนในด้าน Digital transformation สูงที่สุดในการลงทุนทางด้านไอที (ประมาณ 53%)
ดังนั้นแล้วเมื่อมีการลงทุนที่เพิ่มขึ้นการวัดผลจึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นมากขึ้น จากแต่ก่อนการลงทุนในด้านการทำ Digital transformation นั้นอาจจะเป็นเรื่องที่วัดผลได้ยาก และเป็นการลงทุนที่ดูจะมีความเสี่ยงสูง อักทั้งยังไม่รู้ว่าการลงทุนนั้น จะได้ผลตอบแทนกลับมาได้อย่างไรบ้าง เช่น บางเรื่องในการสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าก็อาจจะวัดผลได้ยากว่าลูกค้าพึงพอใจเพิ่มขึ้นแล้วหรือยัง โดยอาจจะมาจาก 2 เหตุผล เหตุผลแรกก็คือไม่มีกระบวนการวัดผลที่ชัดเจน หรือ เหตุผลที่สองก็คือ รูปแบบการวัดผลที่ไม่ถูกต้อง อย่างไรแล้ว การวัดผลเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก เพราะว่าจะลงทุนในระยะยาวได้ ก็จำเป็นที่จะต้องรู้ว่าเงินลงทุนที่ถูกใช้ไปนั้นสามารถสร้างผลตอบแทนกลับมาได้อย่างไรบ้าง
7 วิธีเพิ่ม ROI ให้ Digital Transformation จะสรุปให้ ว่าเราจะต้องทำอย่างไร เพื่อที่จะเพิ่มการวัดผลประสิทธิภาพจากการลงทุน ในแต่ละเรื่องของการทำดิจิตอลทรานฟอร์เมชั่น ถ้าเราสามารถวัดผลการลงทุนในด้าน Digital transformation ได้ การที่จะใช้ตัวเลขเหล่านี้ไปพูดคุยกับบอร์ดบริหารระดับสูง ในการจัดทำโครงการใหม่ๆต่อเนื่อง หรือโครงการที่ใหญ่ขึ้นจะเป็นเรื่องที่ง่ายมาก ดังนั้นลองมาดูกัน ว่ามีเรื่องอะไรที่จะสามารถเพิ่ม ROI ได้บ้าง
หาเป้าหมายให้เจอ
เป็นเรื่องพื้นฐานที่มีความสำคัญที่สุดที่เราจะต้องตกลงร่วมกันว่าการ Transform ในครั้งนี้จะสร้างอะไรขึ้นมาบ้างแบบที่ชัดเจนเข้าใจตรงกันได้ ตรงนี้หลายบริษัทมักจะพลาดกัน เพราะรู้ว่าเราจะต้องทำเพื่อให้มันดีขึ้น แต่มันดีขึ้นอย่างไร ดีขึ้นแค่ไหน กลับไม่มีใครตั้งเป้าหมายในจุดนี้
สิ่งที่เราต้องทำก็คือกำหนดทิศทางอย่างชัดเจนว่าเราจะเดินไปทางไหน สร้างทีมงานที่มีสิทธิ์มีเสียงในการกำหนดแนวทางขึ้นมา และกำหนดการทำงานร่วมกันให้ชัดเจน รวมทั้งกำหนดเป้าหมายหรือความคาดหวังออกมาเป็น ROI/การลงทุน ให้ได้ ซึ่งถ้าเราได้ร่วมมือกับทีมงานฝั่งกลยุทธ์ธุรกิจก็จะสามารถกำหนด ROI ให้สอดคล้องกับความต้องการของบริษัทได้ รวมไปถึงเราจะได้แนวทางในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย หรืออาจจะพบกับตลาดใหม่ก็เป็นได้
ตั้งคำถามให้ถูกต้อง (และตอบให้ถูกด้วย)
จากแนวทางของผู้ที่เคยทำสำเร็จในด้านการผลักดัน Digital First มาแล้วนั้น ก็มีการนำการวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบเข้ามาเพื่อใช้วัดผลประสิทธิภาพ , ปริมาณที่ได้นำไปใช้, และผลกระทบทางธุรกิจที่เกิดขึ้น ซึ่งก่อนที่เราจะสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้เราจำเป็นที่จะต้องเก็บข้อมูลที่สำคัญ 3 เรื่องหลักๆดังนี้
- บริษัทกำลังปรับตัวการดำเนินการด้าน Digital ได้ด้วยความเร็วที่เหมาะสมหรือยัง
- บริษัทได้ลงทุนด้านการปรับตัวของ Digital ด้วยเม็ดเงินที่เหมาะสมหรือยัง
- บริษัทได้กำหนดคุณค่า และผลลัพท์ของการลงทุนด้าน Digital ไว้อย่างไร
สร้าง Dream Team
การเปลี่ยนแปลงด้าน Digital transformation ที่แท้จริงจะเป็นการทำงานแบบข้ามทีมกัน ดังนั้นทีมนี้จำเป็นที่จะต้องมาจากองค์ประกอบของแต่ละหน่วยงานในบริษัท เพื่อจะช่วยให้ดำเนินการไปสู่เป้าหมายได้ง่ายที่สุด
แต่ในขณะเดียวกัน เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ยากที่สุดในการทำดิจิตอลทรานฟอร์เมชั่นเช่นเดียวกัน เพราะว่าแต่ละคนก็ยังยึดติดกับรูปแบบการทำงานแบบเดิม คือทำงานเฉพาะกับทีมตัวเองและก็ไม่สะดวกใจที่จะทำงานกับทีมอื่นมากสักเท่าไหร่
แต่ทีมนี้แหละที่จะเป็นหัวหอกในการทำลายกำแพงต่างๆ เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆที่เกิดขึ้นได้โดยมีเป้าหมายหลักเป็นเรื่องสูงสุดของทีมนี้ ซึ่งเรื่องนี้ เราเคยเล่าเรื่องของ คนที่เป็นพื้นฐานที่แท้จริงของการทำ digital transformation ไม่ใช่เครื่องมือ
อย่าไปยึดติดว่าเราต้องสร้างเครื่องมือเอง
การที่บริษัทมีทีมงานที่รู้และเข้าใจในการทำ digital เป็นเรื่องที่จำเป็นมาก แต่การที่เราจะต้องสร้างเครื่องมือที่เราจำเป็นต้องใช้ขึ้นมาเองก็อาจจะต้องเป็นการลงทุนที่เยอะมาก อันเนื่องมาจากการที่เราต้องสร้างทีมใหญ่ แต่จะดีกว่าถ้าเรามีทีม partner ที่สามารถช่วยเราในเรื่องนี้รวมทั้งเขามีประสบการณ์มากกว่าเราในด้านนี้อีกด้วย
การที่เราใช้ทีมจากข้างนอก จะมีข้อได้เปรียบกว่าในเรื่องของประสบการณ์ที่เขามีเยอะกว่าเรา และระยะเวลาที่เขาใช้ในการทำน้อยกว่าเราทำเอง ดังนั้นทุกเรื่องเราไม่จำเป็นต้องทำเองหมดก็ได้ ให้ดูตามความเหมาะสมและตามเป้าหมายแผนงาน
ผลักดัน Agile
ถ้าเรามีแนวความคิดและการทำงานในแบบ Agile จะส่งผลให้บริษัทสามารถ ย่อยเป้าหมายและมีการตรวจสอบและปรับปรุงการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง เพราะการทำงานแบบวงรอบระยะเวลาสั้นๆ จะช่วยลดความเสี่ยงและผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงภายนอก รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงจากความต้องการภายในลงได้มาก อีกทั้งยังพร้อมและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นด้วย เรื่องนี้เราเคยพูดแบบละเอียดเอาไว้แล้วใน Agile คืออะไร ทำไมสำคัญกับ digital transformation
ทำเรื่องดี ให้เป็นเรื่องเด่น
เรื่องนี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่ควรจะทำ นั่นก็คือการนำเอาเรื่องที่ดี หรือที่ประสบความสำเร็จที่ได้เกิดขึ้นแล้วในบริษัท โดยเฉพาะในด้านของการทำ Digital transformation ที่เห็นผลลัพท์อย่างชัดเจน นำมาขยายเพื่อให้คนในบริษัทรับรู้และเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น เราได้ปรับปรุงอะไรและได้ผลลัพธ์อะไรที่ดีขึ้น เรื่องนี้จะเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีในการกระตุ้นให้พนักงานเกิดความคิดและการลอกเลียนแบบในด้านดีๆต่อกันไป ซึ่งผลสุดท้ายก็จะย้อนกลับมาเป็นผลดีกับบริษัทเอง
การวัดผลเรื่องที่ดีที่เกิดขึ้นนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ควรทำ ด้วยเหตุผลดังนี้
- นับจำนวนเรื่องที่ดีหรือประสบความสำเร็จได้ง่าย
- สามารถนำรูปแบบหรือแนวทางจากเรื่องที่ประสบความสำเร็จมาเป็นเชื้อเพลิงให้กับทีมอื่นๆของบริษัท เพื่อเป็นการกระตุ้นให้มุ่งไปสู่เป้าหมายได้ง่ายขึ้น
- ความหลากหลายของเรื่องที่ประสบความสำเร็จนี้ จะเป็นเชื้อเพลิงในการใช้ผลักดันหรือการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆของธุรกิจที่ทำอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอะไรก็ตาม
ให้ความสำคัญกับเรื่องที่มีผลต่อบริษัทมากที่สุดก่อน
การที่เราจะทำ Digital transformation นั้นเราควรจะพุ่งเป้าไปกับเรื่องที่บริษัทให้ความสำคัญอยู่เป็นเรื่องหลักๆก่อนเลย โดยปกติแล้วไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอะไรก็ตามเรื่องหลักที่บริษัทสนใจอยู่จะประกอบไปด้วย 3 แนวทางหลักๆดังนี้
- เพิ่มยอดขาย
- รักษาลูกค้า
- ลดค่าใช้จ่าย
ดังนั้น 3 เรื่องเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญก่อนเป็นอันดับแรกเลย เพราะว่าจะมีผลกระทบกับบริษัทโดยตรง
และนี่ก็คือ 7 วิธี เพื่อเพิ่ม ROI ได้ และในขณะเดียวกัน ผลลัพธ์ก็จะตรงกับความต้องการของบริษัทได้มากขึ้นด้วย เพราะในเมื่อเราต้องลงทุนลงแรงลงเวลาแล้วเราก็ต้องใช้ให้คุ้มค่ามากที่สุดนั่นเอง
ref : https://enterprisersproject.com/article/2020/7/digital-transformation-roi-how-improve
เชี่ยวชาญเรื่อง eCommerce และ Digital Transformation เพราะมีประสบการณ์กว่า 10 ปี และยังเป็น Full Stack Developer รวมถึงประสบการณ์ด้าน Big Data Ecosystem , Blockchain Ecosystem ถามได้ปรึกษาได้ เป็นกันเอง และ จริงใจ 🙂