บริษัทที่ล้มเหลวจากการทำ Digital Transformation

fail from digital transformation

เนื้อหานี้จะไม่ได้พูดถึงเรื่องตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ ในการทำ Digital Transformation แต่ตรงกันข้ามก็คือเราจะพูดถึงตัวอย่างบริษัทที่ล้มเหลวจากการทำ Digital Transformation เพราะหลายครั้งเราพยายามทำแบบที่บริษัทอื่นทำ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นเราก็มาเรียนรู้ว่า อะไรที่เขาทำแล้วล้มเหลวเราก็จะได้หลีกเลี่ยง

ถ้าจะว่ากันด้วยความโลกไม่สวย ก็ต้องพูดกันตามตรงว่า การทำ Digital Transformation ให้ประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งผลการวิจัยออกมาว่า กว่า 70% ของบริษัทขนาดใหญ่ที่พยายามทำดิจิตอลทรานฟอร์เมชั่นนั้นไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ตัวเองต้องการ ด้วยเหตุผลหลัก คือ การขาดความร่วมมือของพนักงาน , ระดับหัวหน้าให้ความช่วยเหลือไม่เพียงพอ, ขาดการร่วมมือข้ามทีมงาน และไม่มีผู้รับผิดชอบอย่างจริงจัง 

แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้นก็ตาม การทำดิจิตอลทรานฟอร์เมชั่นนั้นก็เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ เพื่อให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทุกๆวันของในทุกธุรกิจ เพราะบริษัทที่ไม่เปลี่ยนแปลงนั้นก็คือบริษัทที่ทำใจจะยอมแพ้ตั้งแต่วันนี้แล้ว แต่แค่วันแพ้ยังมาไม่ถึงเท่านั้นเอง 

เราจึงจะมาทำความเข้าใจกันว่า สิ่งที่ทำแล้วอาจจะก่อให้เกิดความผิดพลาดในการทำดิจิตอลทรานฟอร์เมชั่นนั้นมีเรื่องอะไรบ้าง เพราะเราจะได้ป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งเหล่านั้นขึ้น รวมถึงเราจะได้สามารถวางนโยบายหรือกลยุทธ์ไปได้อย่างถูกทิศทาง แต่ก็ต้องเข้าใจว่าตัวอย่างที่ล้มเหลวที่เกิดขึ้นในการทำดิจิตอลทรานฟอร์เมชั่นนั้น ถ้าเรายังไม่หยุดที่จะเดินหน้าและมุ่งมั่นต่อไป เราก็สามารถนำความล้มเหลวนั้น มาเป็นบทเรียนและทำให้เราปรับตัวหรือแนวทางเพื่อไปสู่ทางที่ถูกต้องและสำเร็จในอนาคตได้ ดังนั้นความล้มเหลวจากการทำ Digital transformation นั้นไม่ใช่จุดจบของบริษัท หากเรายังไม่หยุด หรือมีการทำแนวทาง Agility เราก็ไม่ต้องเป็นกังวลมากเกินไป เพราะเราก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลานั่นเอง อย่างตัวอย่างที่พูดมาทั้งหมด ทุกบริษัท ก็ยังเดินหน้าต่อไป ทุกวันนี้ บริษัทเหล่านี้ก็ยังคงมีสินค้าและ บริการอยู่ แต่เรื่องราวเหล่านี้ เป็นหน้าประวัติศาสตร์หนึ่ง ของบริษัทนั่นเอง

GE

ท้าวความสักเล็กน้อย ถึงบริษัท GE ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงานไฟฟ้ามายาวนานตั้งแต่รุ่นของ Thomas Edison หรือประมาณศตวรรษที่ 18 จึงถือได้ว่าเป็นบริษัทที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยแนวทางหลักของบริษัทก็คือเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าในและเป็นผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในยุคหลังๆมานั่นเอง

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2011 บริษัทก็ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในด้าน Digital และ Software โดยมีการสร้าง IoT Platform ขนาดใหญ่, ใส่ sensor เข้ามาในอุปกรณ์ต่างๆ และนำเสนอสินค้าและบริการที่สร้างขึ้นใหม่เหล่านี้เข้าไปสู่อุตสาหกรรมโรงงาน ซึ่งก็ได้ทำมาต่อเนื่องจนถึงปี 2015 บริษัทได้เพิ่มความจริงจึงขึ้นไปอีก โดยสร้างทีมงานใหม่ให้ชื่อว่า GE Digital มีเป้าหมายหลักก็คือ จะนำเอาข้อมูลต่างๆที่มีมาสร้างประโยชน์ให้เพิ่มขึ้น เพื่อยกระดับให้บริษัทเป็นบริษัทโรงงานไฟฟ้าที่ล้ำหน้ากว่าคู่แข่ง โดยเป้าหมายนี้เป็นเป้าหมายระยะยาวมากๆ ซึ่งส่งผลให้บริษัทต้องใช้เงินเป็นจำนวนหลายพันล้าน US Dollar ลงไปกับทีมงานที่มีขนาดกว่า 1,500 คน ปัญหาที่ตามมาก็คือ สิ่งนี้ไม่ถูกใจนักลงทุนเนื่องจากว่ามีการลงทุนที่สูงมาก โดยยังไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับการลงทุนได้ในระยะเวลาอันสั้น จึงทำให้ราคาหุ้นค่อยๆตกลงอย่างต่อเนื่อง ผลสรุปสุดท้ายของเรื่องนี้ก็คือ CEO ถูกบีบให้ออกจากตำแหน่ง 

สิ่งที่ได้เรียนรู้จาก GE

สิ่งที่เกิดขึ้นใน GE Digital มีจำนวนมากมายมหาศาล นั่นก็เป็นเหตุผลนึงที่จะต้องมีพนักงานเป็นจำนวนมาก แต่ผลลัพธ์ที่ได้ตามมาก็คือ ได้แต่ปริมาณ ไม่ได้คุณภาพ สิ่งที่ GE Digital ขาดไปก็คือการให้ Focus ไปกับในแต่ละเรื่องอย่างจริงจัง ถ้าสามารถเพิ่มความจริงจังให้กับแต่ละเรื่องได้มากๆ โดยไม่ต้องมีจำนวนเรื่องที่ต้องทำเยอะจนเกินไปนัก จะทำให้ผลลัพธ์ออกมาดีกว่านี้ ทำให้เราได้เรียนรู้ว่านี่คือการ Transform ที่มีขนาดใหญ่มากเกินไป โดยเฉพาะไปแบบไม่มีทิศทางหรือเป้าหมายที่ชัดเจนด้วย การทำ Digital transformation ที่ดีควรจะเริ่มต้นจากจุดที่สามารถทำให้เกิดผลลัพธ์ได้อย่างชัดเจน แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆก็ตาม เพราะมันจะเป็นกำลังใจให้กับทีมทำงานสามารถขยายไปในเรื่องที่ใหญ่ขึ้นได้ไม่ยาก รวมทั้งจะได้รับความร่วมมือจากคนที่เกี่ยวข้องได้ง่ายขึ้นอีกด้วย 

Ford

ฟอร์ดเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของสหรัฐอเมริกา ที่มีอายุอานามเก่าแก่ไม่แพ้บริษัทอื่นๆ โดยตั้งบริษัทมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 โดย Henry ford เชื่อว่าคุ้นหูอย่างแน่นอน ซึ่งสินค้าบริษัทหลักๆเลย ก็คือ ผลิต และจำหน่ายรถยนต์ รวมทั้งชิ้นส่วนของรถยนต์

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2014 Ford ได้เริ่มทำ Digital transformation โดยการสร้างทีมงานใหม่ขึ้นมาชื่อว่า Ford Smart Mobility โดยมีเป้าหมายเพื่อการนำเอาความเป็น digital เข้ามาเพิ่มประสบการณ์ และ คุณภาพในการขับขี่ให้ดียิ่งขึ้น แต่ประเด็นที่เกิดขึ้นก็คือ ทีมงานที่ถูกสร้างใหม่นี้อยู่ห่างไกลจากสำนักงานใหญ่มาก และไม่เพียงแค่ที่ตั้งที่ห่างไกลแต่การทำงานร่วมกันประสานกับสำนักงานใหญ่นั้นเกิดขึ้นน้อยมาก และยังรวมไปถึงการตั้งทีมงานใหม่นี้แยกออกไปเป็นคนละบริษัทเลย ทำให้เกิดกำแพงการทำงานร่วมกันกับสำนักงานใหญ่ ผลที่ตามมาก็คือ ใช้เงินไปเป็นจำนวนมากและมีข้อเป็นกังวลถึงเรื่องคุณภาพ ประสิทธิภาพในการที่จะนำเอาเทคโนโลยีเหล่านั้นเข้ามาใช้งานในบางส่วนของบริษัท (ก็เพราะว่าไม่ได้มองว่าเป็นบริษัทเดียวกัน ซ้ำยังทำเป็นคนแปลกหน้าอีกต่างหาก) ราคาหุ้นของฟอร์ดจึงลดต่ำลงเรื่อยๆและในอีกไม่กี่ปีต่อมาก็ต้องยอมลดบทบาทหน่วยงานนี้ลง

สิ่งที่ได้เรียนรู้จาก Ford

การนำเอาดิจิตอลทรานฟอร์เมชั่นมาใช้ จำเป็นที่จะต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานเดิมของบริษัท จึงจะทำให้ประสบความสำเร็จในการทำ Digital transformation ได้ แต่จากตัวอย่างนี้ทำให้เห็นว่า การแยกบริษัทออกไปโดยขาดจากกันโดยสิ้นเชิง จะทำให้เกิดความยุ่งยากในการที่จะทำงานประสานร่วมกันได้อย่างที่ควรจะเป็น

Procter & Gamble

ชื่อเต็มของบริษัทนี้อาจจะงงกันแต่ถ้าพูดว่าบริษัทนี้ชื่อที่คุ้นหูก็คือ P&G ก็น่าจะร้องอ๋อกันบ้าง บริษัทนี้เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 โดยสินค้าหลักๆก็คือ สินค้าที่ดูแลสุขภาพ ความสะอาด ของผิวหนังและร่างกาย ซึ่งมีมากมายหลายสินค้า อย่างที่เรารู้กัน 

ย้อนกลับไปในปี 2012 บริษัทก็ประกาศออกมาว่าจะเป็น  “The most digital company on the planet” เพราะว่าในเวลานั้นบริษัทได้เป็นผู้นำตลาดของสินค้าอุปโภคอยู่แล้ว จึงตัดสินใจว่าจะก้าวไปอีกขั้นในการที่จะทำ Digital Transformation แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือ การประกาศเดินหน้าตามแนวทางนั้นโดยขาดประโยชน์ที่แท้จริง (คือแบบว่า จะเป็นสิ่งนั้นไปเพื่อ?) อีกทั้งประจวบเหมาะกับเป็นช่วงตกต่ำของอุตสาหกรรมพอดี จึงทำให้เจอปัญหาตั้งแต่ตอนเริ่มเลยทีเดียว ท้ายสุด CEO ก็ต้องประกาศลาออกจาก board

สิ่งที่ได้เรียนรู้จาก P&G

เมื่อเทียบกับเจ้าอื่น จะเห็นว่าเจ้าอื่นเค้ามี ROI ที่ดีกว่า และ มีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าในการทำ Digital Transformation ซึ่งจริงๆแล้ว P&G อาจจะประสบความสำเร็จก็ได้ถ้าให้ความสำคัญไปกับการทำ Digital Transformation เรื่องที่เล็กกว่านี้ก่อน เช่น เรื่องกระบวนการผลิต หรือ ตัวสินค้า เพราะใช้ทรัพยากรที่ต่ำกว่า รวมไปถึงบริษัทยังมองข้ามความเป็นไปของอุตสาหกรรมมากเกินไปอีกด้วย ดังนั้นการจะทำ Digital Transformation หรือการ Transform ก็ต้องดูปัจจัยภายนอกและสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องและเหมาะสมกับกลยุทธ์ที่ต้องการจะทำด้วย

สรุป

เราจะเห็นเรื่องหลักๆจากข้อผิดพลาดทั้ง 3 บริษัทใหญ่ที่ได้พบเจอ บริษัทจีอีสิ่งที่เป็นความผิดพลาดหลักก็คือขาดการโฟกัสลงไปที่แต่ละเรื่อง เพื่อให้มันเกิดประสบความสำเร็จขึ้นมาได้จริง แต่ไปเน้นทำเยอะๆทำมากๆโดยที่ประโยชน์ค่อนข้างน้อย ส่วนของฟอร์ดนั้นก็เป็นเหมือนกับการสร้าง The Adventure Team ทีมที่แยกตัวตนออกไปจากบริษัทหลัก จึงส่งผลให้เกิดความยุ่งยากในการปรับกลับมาใช้กับ product หลักๆของบริษัทได้ ส่วนสุดท้าย P&G ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการสร้างนโยบายเชิงขายฝันมากจนเกินไป จนลืมดูตลาดรอบข้าง สภาพแวดล้อม และลืมคิดถึงประโยชน์ที่จะทำสิ่งนั้น จึงลงเอยด้วยการที่ไม่ประสบความสำเร็จ

เดี๋ยวบทความต่อไป จะมาเจาะลึกกรณีของ GE ที่สร้าง GE Digital ออกมา แต่ว่ากลับล้มเหลว แต่ว่านั่นเป็นเพียงกระบวนการหนึ่งเท่านั้น เราจะมาถอดบทเรียนนี้กันโดยละเอียด รวมทั้งชี้ชัดๆลงไปเลยว่าเค้าทำอะไร มีการจัดทีมงาน โครงสร้าง และแผนงานเป็นยังไง รวมถึง อนาคตเค้าจะต้องแก้เกม และ เดินหน้าอย่างไรต่อไป

ref https://www.forbes.com/sites/blakemorgan/2019/09/30/companies-that-failed-at-digital-transformation-and-what-we-can-learn-from-them/