จะทำอย่างไร ให้ Digital Transformation ขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง

ขับเคลื่อนการทำ digital transformation อย่างต่อเนื่อง

อย่างที่เรารู้กันว่า Covid-19 เป็นตัวเร่งในการทำให้หลายบริษัทต้องเริ่มเรื่อง Digital transformation แต่คำถามที่น่าสนใจก็คือเราจะต้องทำอย่างไรเพื่อรักษา การขับเคลื่อน Digital transformation นี้ต่อไปได้ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ทำตามกระแสหรือทำแค่แก้ปัญหาแล้วก็เลิก 

หลายบริษัทได้ลุกขึ้นมาทำดิจิตอลทรานฟอร์เมชั่นแค่เพียงชั่วข้ามคืน จากเดิมที่วางแผนล่วงหน้ากันเป็นปี และอีกหลายบริษัทก็แค่ได้แต่คุยแต่ไม่เคยทำ แต่เมื่อมีวิกฤตการแพร่ระบาดเกิดขึ้นหลายบริษัทกลับหันหน้ามาตั้งใจทำและทำได้อย่างดีในเวลาอันสั้น หลายบริษัทไม่เคยมีโปรแกรมที่ใช้งาน ประชุมผ่านทางออนไลน์มาก่อน แต่เพียงแค่สัปดาห์เดียวทุกคนก็สามารถใช้ได้อย่างคล่องแคล่วและสามารถประสานงาน ทำงานต่อได้อย่างดี เรามองว่านี่ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะว่านี่คือจุดเริ่มต้นที่หลายบริษัทได้แต่คิดแต่ไม่กล้าทำ แต่ตอนนี้ได้ลงมือทำแล้วก็พบว่ามันก็มีข้อดีอย่างมากมาย ตอนนี้เราก็จะมาพูดกันถึงเรื่องว่า แล้วจะทำอย่างไรให้กระบวนการนี้กลายเป็น new normal ก็คือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆโดยใช้ดิจิตอลเข้ามาเป็นองค์ประกอบได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการทำงานที่ดีให้กับธุรกิจ หรืออาจจะเป็นแนวทางที่ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ 

วันนี้ก็เลยมาแนะนำ 3 แนวทางที่ช่วยสร้างแรงขับเคลื่อนในการทำ Digital transformation ได้อย่างต่อเนื่อง เพราะว่าสิ่งที่ยากที่สุดก็คือการสร้างแรงจูงใจให้เริ่มต้นทำอะไรสักอย่างนึง แต่ตอนนี้เมื่อเริ่มต้นแล้วเราก็ต้องผลักดันให้เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง

ตั้งใจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไป

หลายอย่างที่บริษัทได้เริ่มทำในช่วงที่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดในช่วงที่ผ่านมา ก็น่าจะมีเรื่องของการลองผิดลองถูกกันอยู่ในนั้นบ้าง บางเรื่องที่คิดว่าทำออกมาแล้วน่าจะดีแต่พอทำมาแล้วจริงๆมันอาจจะไม่เวิร์คก็ได้ 

แต่สิ่งที่เราจะต้องคิดก่อนที่จะเริ่มทำอะไรสักอย่างหนึ่งก็คือ เราทำสิ่งนี้ไปทำไม เราจะต้องมีการตอบโจทย์ให้ได้ในทุกเรื่องที่เราลงมือทำ จะว่าไปมันไม่ใช่แค่เรื่องของ Digital transformation แต่มันก็เป็นเรื่องของการทำธุรกิจโดยทั่วไปด้วยนั่นแหละ การที่เราจะทำอะไรสักสิ่งหนึ่ง จะต้องตอบคำถามว่าทำไมเราถึงทำสิ่งนี้ ในทุกๆการกระทำเราจะต้องมีคำตอบให้เสมอๆ เพื่อให้เรามั่นใจว่าสิ่งที่เรากำลังจะลงมือทำนั้น กำลังสอดคล้องกับธุรกิจที่เรากำลังดำเนินการ หรือ แผนในอนาคตที่เรากำลังต้องการจะไป 

การทำ Digital transformation ก็เช่นเดียวกันเราจะต้องตั้งใจที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ได้อย่างแท้จริง รวมทั้งเราจะต้องมองเห็นประโยชน์ที่จะได้จากการทำสิ่งนั้นด้วย ว่าจะช่วยชีวิตคนทำงานในส่วนต่างๆได้อย่างไร เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดการเปลี่ยนแปลงแล้วและก่อให้เกิดประโยชน์กับคนทำงาน เขาจะรู้สึกว่าสิ่งนั้นมันเป็นสิ่งที่จับต้องได้จริงไม่ได้เป็นแค่นโยบายขายฝัน และเขาก็จะรู้ว่ามันสร้างประโยชน์ให้เขาอย่างไร เขาก็จะเริ่มมีใจที่อยากจะเปลี่ยนแปลงในสิ่งใหม่ๆต่อไปอย่างต่อเนื่อง 

แสดงความคืบหน้าอย่างชัดเจน

อันนี้จากประสบการณ์โดยตรงเลยก็คือการจะทำโครงการอะไรก็ตาม การสื่อสารและทำให้ทุกอย่าง Transparent นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะจะทำให้ทุกคนเข้าใจว่าตอนนี้สิ่งที่กำลังทำร่วมกันนั้นเดินมาถึงจุดไหนแล้ว รวมไปถึงว่าอีกนานแค่ไหนกว่าที่เราจะไปถึงเป้าหมาย รวมถึงทำให้เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้นั้นมีอะไรบ้าง 

ย้อนกลับไปเราเคยพูดถึงเรื่อง ทำไม Agile ถึงสำคัญกับ Digital Transformation แต่ในฐานะที่ผมได้ศึกษา Agile และ Scrum รวมทั้ง ได้ Certified Scrum Master มาแล้วนั้น กล้าพูดได้เลยว่า ประโยชน์ ของการนำแนวคิดเหล่านี้มาใช้งานก็คือการทำให้ทุกอย่าง Transparent หรือว่าโปร่งใสในภาษาไทยนั่นแหละ หลายคนมักเข้าใจผิดว่าการทำ Agile , Scrum มันคือการแก้ปัญหาที่หลายๆบริษัทเจออยู่ แต่ในความเป็นจริงแล้วเปล่าเลย มันเป็นเครื่องมือที่ทำให้ตีแผ่ปัญหาออกมาได้อย่างชัดเจน และมันยังเป็นเครื่องมือที่ทำให้ทุกคนเข้าใจการทำงานร่วมกันถึงกรอบการทำงานและระยะเวลา อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือที่ทำให้ทุกคนสื่อสารพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกันมากขึ้น นั่นต่างหากที่จะถือว่าเป็นหัวใจของแนวความคิดเหล่านี้ (ีกทั้งหลายคนก็คิดว่าเอามาใช้แล้ว การทำงานจะเร็วขึ้น แต่จริงๆแล้ว แค่ทำให้ โปร่งใสขึ้น ตรวจสอบได้เร็ว ทำให้เรารู้ว่าเรามาถึงไหนแล้ว ซึ่งจะมีผลทางจิตวิทยา ทำให้เหมือนกับว่า ทำงานได้เร็วนั่นเอง

ดังนั้นการรายงานความคืบหน้าอย่างชัดเจนถูกต้องและตรงไปตรงมา ก็ควรจะหมายรวมถึงการที่ทีมงานสามารถนำส่งมอบสิ่งที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ได้อย่างต่อเนื่อง และตรงตามเวลา สิ่งนี้ไม่ได้จะทำให้เกิดผลดีแค่ในมุมของการบริหารจัดการโครงการ แต่ทำให้ทีมงานที่อยู่ในระบบทั้งหมดไม่ทำงานเยอะจนเกินไป หรือทำงานน้อยจนเกินไป เพราะความโปร่งใสที่แสดงความคืบหน้าออกมาอย่างต่อเนื่อง จะเป็นตัวที่บอกถึงความเหมาะสมของโครงงานนั้นเอง 

และเมื่อเราได้เห็นรายงานความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้เห็นสิ่งที่ทีมงานร่วมกันทำออกมาเป็นระยะๆแล้ว เราก็จะรู้ได้ทันทีว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นี้นั้นมันกำลังไปถูกทางหรือเปล่า และมันจะดีมากที่สุด ถ้ารายงานที่ได้รายงานออกมาเป็นระยะนั้น มีงานที่สามารถใช้ได้จริงทำให้ทุกคนได้ลองใช้ด้วยเป็นระยะๆ ก็จะทำให้รู้ทันที ว่าความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในบริษัทนั้นเรากำลังมาถึงจุดไหนแล้ว สิ่งนี้จะทำให้ทุกคนก็อยากจะเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาให้มันดีขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย 

สร้างสภาพแวดล้อมเปิดรับแนวความคิดใหม่ๆ

แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆ คนส่วนใหญ่มักจะปฏิเสธตั้งแต่เริ่มต้นอยู่แล้ว แต่ในตอนนี้ที่เราเริ่มมีการสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแล้ว เราก็ต้องใช้โอกาสนี้แหละในการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมการทำงาน เพื่อให้สอดคล้องกับการนำเสนอแนวความคิดใหม่ๆจากทีมงาน 

เพราะการจะเปลี่ยนแปลงใดๆได้นั้น จะต้องเกิดความเปลี่ยนแปลงจากคนทุกคนที่อยู่ในบริษัทด้วยเช่นกัน โดยปกติการทำงานจากหลายๆส่วนงานก็จะมีการสอดประสานและสอดคล้องกันอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงแค่เพียงทีมใดทีมหนึ่ง หรือคนใดคนหนึ่งนั้นไม่เพียงพออย่างแน่นอน คำถามก็คือจะทำอย่างไรให้บริษัทสามารถมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ทุกคนหรือคนส่วนใหญ่สามารถออกความคิด รวมทั้งบริษัทจะจัดการกับความคิดเหล่านั้นได้อย่างไร เพื่อทำให้เป็นความจริง หรือทำให้รู้ว่าเรากำลังฟังความคิดของทุกคนอยู่และความคิดไหนที่ดีก็จะมาทำให้มันเป็นจริง 

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงเพียงครั้งหนึ่ง กำแพงที่เคยตั้งสูงของแต่ละคนก็จะลดต่ำลงหรือถูกทำลายลงไปแล้ว เราก็จะต้องใช้จังหวะนี้ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆอย่างต่อเนื่องเข้าไป เพราะถ้าเราทิ้งเวลานานไปกำแพงเหล่านั้นก็จะสร้างขึ้นมาและสูงขึ้นเรื่อยๆตามเวลาที่ผ่านไป มันก็เหมือนกับการที่ปรับให้ทุกคนกลับไปเข้าอยู่ใน Comfort Zone เหมือนเดิมนั่นแหละ