5 ข้อดี Covid-19 ต่อ Digital Transformation ที่อาจไม่ทันได้คิด

ใครจะคิดว่าในวิกฤติการแพร่ระบาดก็ยังมี 5 ข้อดี Covid-19 ต่อ Digital Transformationอยู่ในนั้นด้วย อย่างเรื่องเล็กๆ ก็คือมีเรื่องตลกเกิดขึ้นเมื่อตอนที่ไวรัส Covid-19 เริ่มแพร่ระบาดไปได้สักพักนึงแล้วก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า “ใครคือคนที่เป็นผู้นำในการทำ Digital transformation ของบริษัทคุณ” โดยมีตัวเลือกดังนี้

1) CEO , 2) CTO, 3) COVID-19 

ใครเป็นคนนำเรื่องการทำ digital transformation ในบริษัทคุณ?

และแน่นอนคำตอบก็คือ  COVID-19 เพราะมันเป็นตัวเร่งให้เกิดการทำ Digital transformation ในบริษัทได้เป็นอย่างดี ในระยะเวลาอันสั้นมากๆ เรียกว่าไม่ทำก็ถูกบังคับให้ทำ 

คำถามต่อมาก็คือ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดตอนนี้ ที่กำลังคลี่คลายลงแล้ว บางธุรกิจเริ่มกลับมาเปิดบริการได้อย่างที่เคยเป็น แม้ว่าจะมีบางเรื่องที่ต้องปรับตัวไปบ้างก็ตาม แต่ใน Digital Transformation ที่ได้ทำกันมาในช่วงที่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาด และทุกคนต้องอยู่ที่บ้านนั้น มีเรื่องอะไรบ้างที่เป็นผลต่อเนื่อง แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดหมดลงแล้วก็ตาม และนี่ก็คือ 5 ข้อดี Covid-19 ต่อ Digital Transformation แม้ว่าจะผ่าน Covid-19 ไปแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นข้อคิดจาก Melissa Swift

การทำงานของพนักงาน คือสิ่งแรกที่ต้องให้ความสำคัญ

จากแต่ก่อน การทำงานแบบ remote เป็น “nice to have” ก็คือ ทำงานที่บ้านได้ มันจะดีมาก(สำหรับมุมพนักงาน) แต่ว่า ตอนนี้เราต้องกลับมุมมองว่า ให้พนักงาน สามารถทำงานแบบไหนก็ได้ ที่สามารถทำให้งานสำเร็จได้ นั่นเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่าหรือเปล่า และทุกคนก็น่าจะได้เรียนรู้กันไปเรียบร้อยแล้ว จากช่วงเวลาที่ผ่านมา ว่าได้ผลดีหรือไม่อย่างไร

ไม่ได้หมายความว่าต้องทำงานที่บ้าน 100% แต่ว่าก็สร้างความยืดหยุ่นได้มากกว่าเดิมทีเดียว

ลูกค้า และ พนักงาน กลายเป็นคนช่วยบริการข้อมูล

ในช่วงที่ผ่านมา เป็นตัวบังคับให้หลายคนใช้ช่องทาง digital กันมากขึ้น และด้วยพื้นที่อันเปิดกว้างของโลก digital นี้ เราจะได้ยินการวิพากษ์วิจารณ์จากลูกค้ามากขึ้น รวมไปถึง อีกมุมหนึ่ง ลูกค้าเองก็จะมาช่วยตอบคำถามในสิ่งที่ตัวเองเคยเจอ ให้กับลูกค้าคนอื่นที่เจอปัญหาเหมือนกับตัวเองเช่นเดียวกัน (ประมาณว่า แชร์ ประสบการณ์ที่ตัวเองเจอนั่นล่ะ)

สิ่งนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันเป็นเรื่องที่ยุคก่อนเราใช้กระดานข่าวในการเป็นสื่อกลางทำหน้าที่นี้ หรือว่า social ที่เริ่มยึดครองพื้นที่การใช้งาน internet ที่มากขึ้น ลูกค้าจึงมีอำนาจในการวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เราทำดีและไม่ดีได้กว้างขวางและรวดเร็วมากขึ้น จากตัวเร่งที่ผลักดันให้ลูกค้าเข้ามาอยู่ในโลก digital ที่มากขึ้นนั่นเอง

การเพิ่มกระบวนการแบบอัตโนมัติเพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความปลอดภัย 

สิ่งนี้เป็นสิ่งที่พยายามทำกันมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานแล้ว เราคงจะเคยได้ยินคำว่า Robot service จากผลการสำรวจพบว่าประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีหุ่นยนต์เป็นตัวขับเคลื่อนการทำงานของโรงงาน แต่ 1% นี่แหละที่สามารถสร้างเงินในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่านับหมื่นล้านบาทได้

การปรับระบบการทำงานบางอย่างให้เป็นอัตโนมัติมากขึ้น จะสามารถช่วยลดการทำงานในบางเรื่องลงได้ ซึ่งในภาพของการเงินนับว่าเป็นเรื่องที่ดี และในภาพของเรื่องฝ่ายบุคลากรก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดีเช่นเดียวกัน แต่มันก็จะกลับมาเป็นภาระระยะยาวของ CIO แทน (เพราะยังไงระบบที่ทำงานแทนคน จำเป็นต้องมีคนที่ดูแลระบบเหล่านั้นด้วย แต่คุ้มค่ากว่าอย่างแน่นอน เพราะระบบทำงานได้ตลอดต่อเนื่องไม่เคยหยุด และทำงานทดแทนคนเป็นจำนวนมากๆได้)

มีการกวาดล้างปัดฝุ่นกระบวนการทำงาน 

หลายเดือนที่ผ่านมาหลายๆบริษัทก็มีการทบทวนโครงสร้างการทำงานร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดการทำงานซ้ำซาก หรือการทำงานที่ขัดแย้งกันเองในบริษัท รวมถึงมีการยุบการทำงานหลายส่วนหรือรวมเข้าด้วยกัน เพื่อความคล่องตัวมากขึ้น และมีการทำ Digital transformation ในอีกหลายๆส่วนเพื่อความรวดเร็วในการทำงาน เพราะช่วงเวลาการทำงานปกติ เราไม่มีเวลา หรือ โอกาสจะได้ทำเลย

ความสมบูรณ์เป็นศัตรูต่อความก้าวหน้า

ในระดับธุรกิจ ความสมบูรณ์ถือเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าความสมบูรณ์เหล่านั้นมันมีราคาที่ต้องจ่ายให้มัน โดยเฉพาะ “เวลา” ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล และเวลาก็สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆอย่างได้ด้วย ของที่เคยเป็นสิ่งล้ำยุคล้ำสมัย แต่หากช้าไปเพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์ จะกลายเป็นของตกยุคได้ เพราะมีคนตัดหน้าไป

ในเรื่องของการทำงานก็ไม่แตกต่างกัน ถ้ากระบวนการต่างๆ มีการทำงานที่สั้นลงสามารถส่งมอบ  “working software” (เป็นคำเปรียบเทียบ ของสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา ให้เพียงพอต่อการใช้งานได้ ตามเป้าหมายสั้นๆ ที่กำหนดร่วมกัน) และสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง นั่นจะเป็นสิ่งที่ดี และมีคุณค่ามากกว่าการใช้เวลาทำอะไรนานๆ แต่กลับได้สิ่งที่มีคุณค่าน้อยแต่มีความสมบูรณ์แบบในตัวของมันเองออกมา 

ยังไงซะในวิกฤตทุกครั้งก็มีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ เราเพียงแค่ต้องมองหาว่าโอกาสนั้นคืออะไร อย่างวิกฤตที่เกิดขึ้นในรอบนี้ หลายบริษัทก็ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองได้แต่เคยคิดแต่ไม่กล้าทำ และก็ได้รับรู้ว่าเรื่องนั้นมันมีผลออกมาดีแค่ไหน จากที่เคยคิดอยู่นานเป็นปี คราวนี้ก็ทำให้มันใช้ได้จริงในช่วงเวลาแค่ไม่กี่สัปดาห์ เท่านั้น นั่นก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี ที่เราได้จากวิกฤติในครั้งนี้ นั่นเอง

และถ้าเราทำ Digital transformation แล้ว อย่าลืมเรื่อง การทำ Data Transformation คือพื้นฐานก่อนการต่อยอดไป Digital Transformation ด้วย เพื่อให้มีข้อมูลในการใช้ตัดสินใจในอนาคต