ขั้นตอนการทำ Digital Transformation หรือ digital transformation process

ขั้นตอนการทำ Digital Transformation จริงๆแล้วไม่มีขั้นตอนหรือแนวทางที่ตายตัว ไม่ว่าจะเป็นบริษัทไหนที่ให้คำปรึกษาในด้านการทำ Digital transformation ก็ตาม ก็ไม่มีสูตรสำเร็จที่จะสามารถนำไปใช้ได้กับทุกบริษัทในแบบเดียวกัน แม้กระทั่ง Wikipedia เองยังไม่มี Digital Transformation Process เลย สาเหตุที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่าแต่ละบริษัทมีธุรกิจและแนวทางการทำธุรกิจที่แตกต่างกันไป และรวมถึง องค์ความรู้ของคนทำงาน วัฒนธรรมการทำงาน ก็แตกต่างกัน ดังนั้นเราจึงไม่สามารถ ทำแนวทางเดียวและจะสำเร็จได้ในทุกๆธุรกิจ อีกทั้งการเอาแนวทางแบบหนึ่งไปใช้กับอีกธุรกิจหนึ่งที่ไม่เหมาะสมอาจจะเกิดผลตรงข้าม ก็คือไม่ได้สร้างผลลัพธ์ได้ดีอย่างที่ควรจะเป็นแต่กลับสร้างความยุ่งยากในการทำงานเพิ่มขึ้นไปอีก 

แต่ก็พอที่จะสรุปเป็นแนวทางคร่าวๆได้ เพื่อนำไปใช้ได้กับทุกธุรกิจ หรือ ทุกรูปแบบของบริษัท ดังนี้

ทำความเข้าใจกับปัญหาก่อน 

แน่นอนว่าเวลาที่บริษัทจะลุกขึ้นมาปรับปรุงอะไรสักอย่างหนึ่ง ส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นไปเพื่อการแก้ไขปัญหาอะไรสักเรื่องหนึ่ง หรือหลายเรื่องพร้อมกัน  ขั้นตอนนี้ก็คือการที่เราจะต้องระบุสภาพของปัญหาที่แท้จริงออกมาให้ได้ เช่น ผมเคยทำงานให้บริษัทหนึ่ง ซึ่งเป็นเว็บขายสินค้าผ่านออนไลน์ เจ้านายบอกว่าตอนนี้เว็บเราดูเงียบเหงา เวลาคนที่เข้ามาซื้อของแล้วรู้สึกว่าเขาอยู่ตัวคนเดียว เขาไม่มีเพื่อนในการจะซื้อสินค้าชิ้นนี้เลย เขาเลยอยากได้ตัวแสดงจำนวนว่ามีจำนวนกี่คนที่กำลังดูสินค้าชิ้นนี้พร้อมกับคุณอยู่ 

ฟังดูปัญหาและแนวทางแก้ไขของเจ้านายก็สมเหตุสมผลดีใช่ไหมครับ แต่ผมคิดว่านั่นไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริง สุดท้ายผมก็เลยนั่งคุยกับเขาไปอีกสักพักนึง จนสรุปได้ว่า ปัญหาที่แท้จริงที่เขาคิดอยู่ในใจ ก็คือเขาต้องการเร่งกระบวนการตัดสินใจการซื้อของลูกค้า เพราะว่าสินค้าหลายชิ้นจะมีจำนวนจำกัด นั่นต่างหากที่เป็นปัญหาที่แท้จริงที่เขาต้องการจะแก้ไข จะเห็นได้ว่าหลังจากที่ผมคุยกับเขากับสิ่งที่เขาพูดออกมาครั้งแรก กับครั้งหลังมันไม่ตรงกันเลย

หลายบริษัทยังคงเป็นแบบนี้อยู่ คือเราอยากได้แนวทางการแก้ไขปัญหาอะไรสักเรื่องนึง แต่คนที่เล่าปัญหาให้เราฟัง พร้อมกับสิ่งที่เค้าคิดว่าเป็นทางแก้ กลายเป็นว่าปากไม่ตรงกับใจแล้วสุดท้ายเราไปหาวิธีการแก้ไขสิ่งเหล่านั้น ซึ่งมันก็จะไม่ตอบโจทย์เขาอยู่ดี 

การเข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริง จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะเราจะไม่หลงทางในการหาเครื่องมือหรือวิธีการแก้ปัญหาเหล่านั้น 

ประเมินวิธีการแก้ปัญหาแนวทางในแบบต่างๆ 

ขั้นตอนนี้นับว่าเป็นขั้นตอนที่จะต้องใช้ประสบการณ์ และมุมมองเชิงกว้างของคนที่หาคำตอบเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนั้นๆ และไม่ใช่แค่ความรู้หรือประสบการณ์ในด้านดิจิตอลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เขาจะต้องเข้าใจกระบวนการทำงานของธุรกิจ หรือกระบวนการทำงานของปัญหาที่เขากำลังจะแก้ตรงนั้นด้วย เพราะมันจะเป็นการประยุกต์นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อใช้แก้ปัญหา หรือบางครั้งก็อาจจะไม่ได้ใช้เทคโนโลยีในการแก้ปัญหาด้วยซ้ำไป เพียงแค่ลดขั้นตอนการทำงานบางอย่างหรือขั้นตอนการทำงานบางขั้นตอนเท่านั้นเอง 

แต่อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งลงมือทำเร็วจนเกินไป ควรจะคิดหาทางที่เป็นไปได้หลายๆทางออกมาพร้อมกันก่อน เพื่อให้เรารู้ว่ามีทางไหนบ้าง ที่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ ซึ่งแต่ละแนวทางก็จะมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไป แต่เราก็จะต้องคิดหาวิธีการแก้ปัญหาออกมาให้ได้เยอะที่สุด เพราะในเรื่องนี้ขั้นตอนการตัดสินใจจะแตกต่างกันไปในแต่ละบริษัท เพราะว่าแต่ละบริษัทก็จะมีเงิน มีทรัพยากร  มีคน ที่ไม่เท่ากัน โซลูชั่นที่จะออกมาแก้ไขปัญหาก็จะมีความแตกต่างกันไป ในขั้นตอนนี้เราอย่ายึดติดว่าเราจะต้องแก้ไขด้วยตัวของเราเอง ลองมองหา partner หรือคู่ค้าที่จะสามารถช่วยแก้ปัญหาให้เราได้เข้ามาเป็นตัวเลือกด้วย เราต้องไม่ลืมเรื่องนึงว่าเวลานั้นมีราคาแพงมาก และอีกเรื่องหนึ่ง เราต้องไม่ลืมว่าองค์ความรู้ของคนทำงานของเรามีมากน้อยเพียงพอแค่ไหนที่จะใช้แนวทางนั้นได้ (ถ้ามีเครื่องมือใหม่ๆ)

ขั้นตอนนี้จะง่ายขึ้นมากถ้าเรามีข้อมูลเชิงลึกในส่วนต่างๆมาเป็นองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเชิงลึกของการทำงาน ของพนักงาน ของการขาย ของลูกค้า ของกิจกรรมที่ทำอยู่ในบริษัท และอื่นๆที่เกี่ยวข้าง เพราะว่าหลายครั้งข้อมูลจะช่วยเราในการตัดสินใจได้ว่าทางเลือกไหนจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด 

ลงมือทำแบบ Agile

เราเคยเล่าเรื่อง Agile ไปแล้ว ว่ามีกระบวนการแนวคิดการทำงานอย่างไร ข้อดีของการทำงาน Agile ก็คือเราจะสามารถวัดผลการแก้ปัญหาในเรื่องนั้น หรือวัดผลผลลัพธ์ที่ได้จากการทำสิ่งใหม่ออกมา โดยใช้ระยะเวลาไม่นานและใช้ทรัพยากรจำนวนไม่มาก และมันยังเป็นตัวบอกที่ดีว่าเราเดินทางมาถูกทางหรือไม่ ถ้าถูกทางก็ไปกันต่อ ถ้าผิดทางก็อาจจะแก้ไขให้ถูกทางหรืออาจจะยกเลิกแนวทางนั้นไป แล้วแต่การตัดสินใจ (เพราะยังเสียอะไรไปไม่มาก)

สิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ ไม่ควรคาดหวังว่าการแก้ไขปัญหาในช่วงระยะเวลาสั้นๆจะส่งผลให้สมบูรณ์แบบ แต่ควรมีมุมมองว่าเราจะแก้ปัญหาอย่างไรโดยใช้เวลา และทรัพยากรน้อยที่สุดเพื่อให้ได้ผลในการแก้ปัญหามากที่สุดต่างหาก และต้องพร้อมที่จะปรับปรุงแนวทางของส่วนนั้นเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก เพราะมันจะช่วยสร้างความสมบูรณ์ได้ในอนาคตได้

ขั้นตอนการทำ Digital Transformation เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถทำ Digital transformation ให้กับองค์กรหรือบริษัทได้ ที่เหลือก็จะเป็นเพียงองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือหรือโปรแกรมที่จะนำเข้ามาใช้ หรือระบบอะไรต่างๆก็ตาม เพราะความสำคัญ จะอยู่ที่คนทำงานและแนวความคิดแล้ว