Digital Transformation เพื่อการเติมเชื้อไฟให้ธุรกิจ

digital transformation จุดไฟธุรกิจ

Digital Transformation ไม่ใช่เรื่องไกลตัวของในทุกธุรกิจ และเราอยู่บนความไม่แน่นอนในทุกๆวันอยู่แล้ว ดังนั้นใครต่างหากที่จะสามารถปรับตัวเองได้เร็วและเอาตัวรอดจากยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วนี้ได้ 

ปัจจุบันธุรกิจมีวงรอบการปรับตัวเองที่สั้นลงเรื่อยๆ อะไรหลายอย่างที่เคยสำเร็จ ถ้าทำซ้ำอีกครั้งก็ไม่ได้แปลว่าจะสำเร็จอีก อีกทั้ง ต้องเผชิญความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามากระทบกับ Business อีก ไปถึงขั้นที่อาจจะเกิดธุรกิจหน้าใหม่ขึ้นมาทำให้ธุรกิจเดิมต้องล้มหายตายจากไปเลยทีเดียว ตัวอย่างที่ผมจะยกเห็นได้ง่ายที่สุดก็คือ ธุรกิจหนังสือพิมพ์ และนิตยสาร เป็นธุรกิจที่ถูกสื่อออนไลน์เข้ามาทำร้ายอย่างรุนแรงและรวดเร็ว หลายกิจการปรับตัวได้ทัน แต่อีกหลายกิจการก็ต้องปิดตัวไป 

วันนี้ผมจะมาเล่าให้เข้าใจว่าการทำ Digital transformation สร้างผลกระทบที่ดีกับธุรกิจได้อย่างไร พร้อมจะยกตัวอย่างบางธุรกิจขึ้นมา ว่ามีแนวทางในการทำดิจิตอลทรานฟอร์เมชั่นได้อย่างไรบ้าง 

Digital transformation คืออะไร 

ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆในแบบสั้นๆก็คือการวางแผน และดำเนินการปรับธุรกิจ เพิ่มความเป็นดิจิตอลให้มากขึ้น และรวมไปถึงปรับปรุงหรือยกเลิกการทำงานบางอย่างเพื่อให้ประสิทธิภาพดีขึ้น โดยเลือกใช้เครื่องไม้เครื่องมือหรือแนวทางที่เป็น Digital มากขึ้น  สรุปสั้นๆก็คือ การทำธุรกิจโดยการเชื่อมต่อกับ Digital technology เพื่อให้สินค้าและบริการหรือประสิทธิภาพการทำงานดีมากขึ้น 

ถ้าพูดถึงสิ่งที่นิยมทำกัน ก็จะประกอบไปด้วย เทคโนโลยีการให้บริการลูกค้า, เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูล, Mobile Application, Robotic process automation (RPA) รวมไปถึงการเอาเครื่องมือเข้ามาประยุกต์ใช้ในกระบวนการทำงานในหลายๆส่วน แต่ก็ต้องบอกตรงๆว่า สิ่งเหล่านี้แม้เป็นสิ่งที่นิยมทำ แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องตายตัวที่ทุกบริษัทจะต้องทำเหมือนกัน เพราะว่าการทำธุรกิจของแต่ละบริษัทแตกต่างกัน ดังนั้นการทำดิจิตอลทรานฟอร์เมชั่นจึงไม่มีแนวทางที่ตายตัว 

แต่ถ้าเราจำเป็นจะต้องวางกลยุทธ์ดิจิตอลทรานฟอร์เมชั่นก็จะมีเป้าหมายหลักๆอยู่ 4 ประการ ที่ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานดังนี้ 

  1. Process transformation หมายรวมถึง การเพิ่มการทำงานแบบอัตโนมัติให้มากขึ้น ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนลง รวมถึง เชื่อมต่อลูกค้ากับบริษัทได้ในหลายๆช่องทางด้วยข้อมูลเดียวกัน โดยใช้การทำงานของ digital เข้ามาช่วย
  2. Business model transformation หมายรวมถึง การนำข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงลึก เพื่อคาดการณ์แนวทางการดำเนินธุรกิจในอนาคต ว่าจะเหมือนเดิมหรือเปลี่ยนไปอย่างไร 
  3. Domain transformation หมายรวมถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมของธุรกิจนั้นที่กำลังดำเนินงานอยู่ 
  4. Cultural transformation หมายรวมถึง ขั้นตอนการทำงานโดยปกติที่จะต้องเปลี่ยนจากอนาล็อกหรือแบบเดิมๆมาเป็นแบบดิจิตอลมากขึ้น ถ้าจะดีที่สุดก็คือการทำงานใดๆให้เป็นแบบดิจิตอลเป็นหลัก ถ้าไม่ได้ค่อยเลือกทำงานแบบอนาล็อก 

อาจจะเกิดคำถามว่า แล้วข้อดีของการทำ Digital transformation คืออะไร ถ้าจะให้พูดง่ายๆก็คือการทำ Digital Transformation นั้นเป็นหัวใจของการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และยังรวมไปถึง บริษัทจะมีการทำงานที่เร็วขึ้น ฉลาดขึ้น และมีต้นทุนที่ต่ำลงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง รวมไปถึง ยังเป็นเครื่องมือที่ที่ใช้ในการทำธุรกิจในยุคใหม่ด้วย เราจะเห็นได้ว่าบริษัทที่เกิดใหม่เช่น Amazon , Apple เขาเกิดและโตขึ้นยิ่งใหญ่ได้ในเวลาอันสั้น เพราะมี Technology เป็นเครื่องมือพื้นฐานของบริษัท

พูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือ เป็นหัวใจข้อหนึ่งของการประสบความสำเร็จในการสร้างบริษัทในยุคใหม่ และจากผลสำรวจมีประเมินเมื่อปี 2018 ว่าประมาณ 70% ของบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกา มีกลยุทธ์การทำ Digital transformation แล้ว แน่นอนว่าตอนนี้ปี 2020 จำนวนนี้ก็จะเพิ่มขึ้นสูงอีก

ความแตกต่างระหว่าง digitization, digitalization และ digital transformation

3 คำนี้จะได้เจอกันเป็นระยะๆ ซึ่งมันก็จะสร้างความสับสนได้ เลยขอใช้พื้นที่ตรงนี้ในการอธิบายเพื่อให้เข้าใจตรงกันสักเล็กน้อย 

Digitization

หมายถึงกระบวนการแปลงข้อมูลจากอนาล็อกไปเป็นข้อมูลแบบ Digital เช่น เอกสารราชการที่จะต้องพิมพ์ออกมาเป็นแผ่นเป็นปึกๆ ก็เปลี่ยนให้มาอยู่ในระบบฐานข้อมูลที่สามารถเรียกใช้งานได้ผ่านโปรแกรม หรือว่ามีการเชื่อมโยงด้วยรหัสบาร์โค้ดแต่ละรายการโดยใช้ scanner ได้ (เช่น ประวัติของผู้ป่วย ก็เก็บเอาไว้ในระบบ โดยมีรหัส หรือ barcode อ้างอิง แต่ยังไม่เชื่อมโยงข้อมูลอะไรกับส่วนอื่น) เป็นต้น เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากในกระบวนการเริ่มต้นทำ ดิจิตอลทรานฟอร์เมชั่น แต่ว่าการทำเรื่องนี้เพียงแค่เรื่องเดียวก็ไม่ได้หมายความว่าทำได้สำเร็จแล้ว เพราะเป็นองค์ประกอบหนึ่ง ที่สำคัญ แต่ไม่ได้หมายรวมถึงทั้งหมด เท่านั้นเอง

Digitalization

หมายถึงกระบวนการที่ใช้ Digital Technology ในกระบวนการทำงานบางส่วนของธุรกิจ เช่น การนำ เทคโนโลยีบางอย่างเข้ามาใช้ร่วมกับการทำงาน ถ้ายกตัวอย่างต่อเนื่องจากข้อข้างบนของการทำ Digitalization คือ มีระบบติดตามข้อมูลประวัติแต่ละคนย้อนหลัง ในการเข้ามาพบหมอในแต่ละครั้ง แบบที่เรียกดูได้ผ่าน real time เลย นั่นคือ Digitization เพื่อเก็บในแบบ Digital แล้ว ก็ Digitalization เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลจากระบบต่างๆเข้าด้วยกันในการทำงาน

Digital Transformation

ก็คือการรวมทั้งสองสิ่งข้างต้นเข้ามาประยุกต์กับการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำธุรกิจแบบเดิม เป็นการเพิ่มเติมแนวทางการทำงานแบบใหม่ที่เป็น Digital มากขึ้นก็ตาม รวมไปถึงการที่สามารถสร้างแนวทางความเป็นไปได้ธุรกิจแบบใหม่ๆในรูปแบบดิจิตอล โดยมันจะเป็นแนวทางที่นำบริษัทก้าวไปสู่จุดที่มีเทคโนโลยีเป็นส่วนประกอบของทุกๆการทำงาน 

analog and digital
Photo by bongkarn thanyakij from Pexels

จะเริ่มสร้าง กลยุทธ์ Digital Transformation ให้ธุรกิจได้อย่างไร

จะว่าเป็นเรื่องยากก็ยากจะว่าเป็นเรื่องง่ายก็ง่ายเพราะว่าการทำ Digital transformation ไม่มี solution หรือแนวทางที่ตายตัวเพราะว่ามันจะเป็นการปรับประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ากับการทำงานแต่ละธุรกิจ ดังนั้นในแต่ละธุรกิจที่มีความแตกต่างกัน การทำ Digital transformation ก็จะแตกต่างกันไปด้วย 

แต่อย่างไรก็ตาม ก็ควรจะต้องมีกลยุทธ์เป็นส่วนหนึ่งของแผนระยะยาว และก็ต้องเริ่มที่จะปรับปรุงบางอย่างเพื่อเป็นการสนับสนุนการทำ digital transformation ด้วย อย่างน้อยที่สุด ต้องมีเรื่องการเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานด้วยแน่นอน โดยแนวทางเพื่อใช้พิจารณาในการวางกลยุทธ์ digital transformation มีดังนี้

ประเมิน สถานการณ์ปัจจุบัน

ทุกธุรกิจต่างกำลังดิ้นรนเพื่อที่จะก้าวไปข้างหน้าหรือพยายามที่จะสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา ถ้าเราจะเริ่มต้นทำสิ่งเหล่านั้นได้ก็คือ รู้จักตัวเองว่าตอนนี้ตัวเองอยู่จุดไหน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการประเมินตั้งแต่บนลงล่าง ของการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ควรเน้นกับ กิจกรรมที่ยังทำได้ไม่เป็นไปตามเป้าของธุรกิจ, กิจกรรมที่มีการใช้งาน digital technology อยู่แล้ว รวมไปถึง ความท้าทายที่เจออยู่ในปัจจุบัน เป็นหลักก่อน

สิ่งที่เป็นเรื่องสำคัญก็คือ ในกระบวนการประเมินการทำงานในปัจจุบันนั้น ควรจะต้องลงรายละเอียดให้ชัดเจนและมีการอธิบายการทำงานข้ามทีมของส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อป้องกันปัญหาในกรณีที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงการทำงานบางส่วนของระบบ แล้วไปกระทบการทำงานส่วนอื่นของระบบ  โดยจะถูกใช้เป็นข้อมูลในการประเมินการเปลี่ยนแปลงการทำงานในอนาคต

ตั้งเป้าหมายของธุรกิจในภาพรวม 

ถ้าเราอยากจะทำสำเร็จ สิ่งแรกที่เราต้องทำก็คือการกำหนดว่าความสำเร็จนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร นั่นหมายถึงการกำหนดเป้าหมายของธุรกิจโดยมีองค์ประกอบของการทำดิจิตอลทรานฟอร์เมชั่นอยู่ในนั้นด้วย เป้าหมาย ควรจะอธิบายได้ ชัดเจน, วัดผลได้ และ มีกรอบเวลา เป้าหมายใดที่ไม่มีองค์ประกอบของ 3 เรื่องนี้ ก็จะคลุมเครือเกินไปที่จะวัดผลความสำเร็จได้ในภายหลัง 

ตัวอย่างการตั้งเป้าหมาย “เราจะใช้ดิจิตอลทรานฟอร์เมชั่นมาสร้าง ระบบการให้บริการลูกค้าผ่านช่องทางดิจิตอล” ตัววัดผลที่ดี คือการกำหนดตัวเลขความพึงพอใจของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น มากเท่าไรจากของเดิม ในระยะเวลาที่กำหนด โดยในจุดนี้ก็จะต้องใช้ข้อมูลความพึงพอใจที่มีอยู่ในปัจจุบันมาตั้งเป็นพื้นฐาน เพื่อกำหนดเลขในอนาคตได้ รวมทั้งในกระบวนการที่ทำงานก็จะต้องมีกระบวนการวัดผลอย่างต่อเนื่องด้วย ว่าลูกค้ามีความพึงพอใจเพิ่มขึ้นจริงๆ 

ความเสี่ยง 

ขึ้นอยู่กับความต้องการในการดำเนินการทางดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น และการปรับเปลี่ยนธุรกิจภายในส่วนต่างๆ เพราะว่าเมื่อมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ก็มักจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากเดิม หรือ อาจจะสร้างความเสี่ยงใหม่ๆเกิดขึ้นในอนาคตได้ อย่างนั้นเราจะต้องประเมินความเสี่ยง และนำเข้าไปรวมกับแผนการบริหารความเสี่ยงของบริษัท เพื่อให้สอดคล้องกันและไม่มีความเสี่ยงมากเกินไป 

ตัวอย่าง ถ้าการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น มีการทำ digitization ข้อมูลของลูกค้า นั่นจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในกรณีที่ข้อมูลของลูกค้าหลุดออกไปได้ ดังนั้นก็ควรเพิ่มระบบป้องกันเพื่อไม่ให้ข้อมูลหลุดออกไปภายนอก นั่นก็จะเป็นต้นทุนในการทำดิจิตอลทรานฟอร์เมชั่นด้วย การมองข้ามเรื่องนี้ตั้งแต่ตอนต้นของการวางกลยุทธ์ อาจจะทำให้เกิดความเสียหายที่ยิ่งใหญ่ตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นการต้องเสียเงินไปกับการแก้ไข หรือว่าการเสียชื่อเสียง รวมไปจนถึงการผิดกฎหมายในบางเรื่องอีกด้วย

เลือกเครื่องมือ digital ให้ถูกต้อง

เมื่อเราได้ตั้งเป้าหมายการทำดิจิตอลทรานฟอร์เมชั่นแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อมาก็คือการเลือกเครื่องมือให้เหมาะสมกับแผนงานที่เราจะทำ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องเลือกเครื่องมือให้เหมาะสมกับงบประมาณที่มี และเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ รวมถึงระยะเวลาที่คาดหวัง โดยปกติก็จะมีงบ 2 ส่วนคือ ส่วนที่ใช้ในตอนเริ่มต้น กับส่วนที่ใช้ในการรักษาระบบให้ทำงานไปได้อย่างต่อเนื่อง 

มีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจในประเด็นนี้ก็คือ บางครั้งเราไม่จำเป็นต้องใช้เงินเยอะในการทำ Digital transformation ก็ได้ อย่างเช่นเครื่องมือในการสื่อสารหรือทำงานร่วมกันผ่านอินเทอร์เน็ต ตอนนี้มีให้เลือกใช้เป็นจำนวนมากมายและหลายเครื่องมือก็ใช้ได้ฟรี อย่างที่เรารู้กันก็เช่น Zoom, Google meet เหล่านี้ก็ใช้ได้ฟรี 

ปรับโครงสร้างระดับหัวหน้าให้เหมาะ

บทความเก่า เราเคยเล่าเอาไว้ว่าเริ่มต้น Digital transformation ต้องเริ่มตั้งแต่ระดับบนลงล่าง เพราะว่าจะใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่ว่ามีผลต่อการดำเนินงานจริงๆ เพราะคนในระดับหัวหน้าจะมีอิทธิพลต่อการทำงานของลูกน้อง จึงสามารถสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำ Digital transformation จำเป็นต้องมีคนที่รู้เรื่องที่เป็นหัวหอกแกนนำ โดยปกติที่บริษัทส่วนใหญ่ใช้กันก็จะเป็นตำแหน่ง CIO (Chief Information Officer) เพื่อเป็นผู้นำในการทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่การจัดโครงสร้างทีมงานยาวไปจนถึงแผนกลยุทธ์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเลย

โดยสิ่งที่ CIO ควรจะต้องให้ความสำคัญมากที่สุดก็คือการสร้างความแข็งแรงในการสื่อสารภายใน เพราะเรื่องนี้จะช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในภายหลังได้ง่ายขึ้น ช่วยรวบรวมและเชื่อมต่อการทำงานจากในแต่ละส่วนเข้าด้วยกัน เพื่อให้พร้อมเปลี่ยนแปลงที่จะมีผลกระทบในส่วนงานที่เกี่ยวข้องกัน 

บางครั้งอาจจะต้องเพิ่มเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสาร หรือวิธีการที่ทำให้พอจะเห็นภาพได้ง่ายมากขึ้น ในแผนของการทำ Digital transformation โดยทำให้เห็นว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงนั้นดีกว่าเดิมอย่างไร เพื่อลดแรงต่อต้าน ซึ่งอาจจะช่วยให้เกิดการอยากเรียนรู้หรือร่วมมือที่จะเปลี่ยนแปลงมากขึ้นด้วย 

เริ่มด้วยการอบรมและการให้ความรู้

ก่อนที่เราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงซึ่งจะมีผลกระทบต่อการทำงานของพนักงานจริงๆ เราควรจะเริ่มต้นด้วยการให้ความรู้ ฝึกอบรมพนักงานเรื่องที่เกี่ยวข้องในการที่จะทำ Digital transformation เสียก่อน เพราะพนักงานในหลายส่วนโดยเฉพาะส่วนที่ต้องเกี่ยวข้องกับลูกค้า จะมีผลอย่างมากในการจะทำให้โครงการสำเร็จหรือล้มเหลวได้ เราจึงควรที่จะอบรมเพื่อให้ความรู้เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตด้วย

การที่เราไม่ได้ให้ความรู้หรือความเข้าใจกับพนักงานที่เพียงพอ แล้วเริ่มกระบวนการปรับปรุงการทำงานโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาใช้ อาจจะส่งผลตรงข้ามในการที่จะทำให้โครงการล้มได้ และเราก็ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่าการทำ Digital transformation นั้น 25% คือแผนแต่อีก 75% การลงมือทำจริงๆ หรือถ้าจะใช้ไม้แข็งเลย ก็อาจจะทำให้เขาเข้าใจได้ว่า ถ้าไม่สามารถทำงานในระบบใหม่ได้ ก็อาจจะไม่มีงาน ที่เหมาะสมสำหรับเขาในกระบวนการทำงานแบบใหม่ของเราอีกต่อไป

ต้องพร้อมสำหรับการทบทวนและการปรับปรุงอยู่เสมอ 

ส่วนสุดท้ายของการวางกลยุทธ์การทำ Digital Transformation ก็คือกระบวนการที่สามารถตรวจสอบผลลัพธ์และประเมินว่า สิ่งที่ได้ทำมานั้นให้ผลดีอย่างที่คิดหรือเปล่า หรือว่ามันแย่แค่ไหน เรามาถึงตรงไหนแล้ว อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะต้องกำหนดหน่วยวัดความสำเร็จหรือเป้าหมายในแต่ละเรื่องให้ได้ เพื่อให้รู้ว่าสิ่งที่เราได้ลงมือทำไปนั้นมีผลสำเร็จอย่างที่เราวางแผนเอาไว้หรือเปล่า และก็ควรจะยืดหยุ่นพอที่จะสามารถปรับให้เหมาะสมกับตามหน้างานได้

ในชีวิตจริงการทำ Digital transformation นั้นโดยเฉพาะการวางกลยุทธ์และดำเนินแผนในระยะยาวไม่ได้เป็นเรื่องง่ายที่จะสำเร็จก็ได้เสมอ ในระหว่างทางก็จะมีเรื่องแปลกๆหรือเรื่องที่เราไม่เคยคาดคิด เกิดขึ้นมาได้ตลอดเวลา ความยากที่เราเห็นนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความล้มเหลวของโครงการ แต่เป็นสิ่งที่บอกให้เราต้องปรับอะไรบางอย่าง เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายได้ 

คำกล่าวที่ว่า “ทุกคนมีแผนจนกระทั่งโดนต่อยหมัดแรกเข้าไปที่ใบหน้า” – กล่าวโดย ไมค์ไทสัน ในชีวิตจริงเราก็ไม่ต่างกัน เรามีแผนการเตรียมมาอย่างดีแต่เมื่อเราเจอสถานการณ์จริงๆแผนเหล่านั้นก็อาจจะใช้ไม่ได้จริงอีกต่อไป เราก็จะต้องปรับให้เหมาะสมกับสิ่งที่เราเจอหรือคู่ต่อสู้ที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่ ถ้าเราต้องการจะทำให้สำเร็จ เราก็ต้องพร้อมที่จะปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงไปสู่จุดที่ดีกว่าอยู่เสมอ 

business
Photo by Philipp Birmes from Pexels

แนวทาง Digital transformation ในกลุ่มธุรกิจต่างๆ 

ในธุรกิจจะได้รับประโยชน์จากการทำ Transformation ที่แตกต่างกันไป รวมทั้งความยากง่ายและประสบการณ์ของแต่ละบริษัท ที่มีผลต่อการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิตอล ตัวอย่างต่อไปนี้คือกลุ่มอุตสาหกรรม และโอกาสที่น่าจะได้รับ หากได้นำ digital transformation ไปใช้จริง

ดิจิตอลทรานฟอร์เมชั่นในธุรกิจสุขภาพ 

อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเกิดขึ้นมายาวนานมากแล้วบนโลกของเรา เพราะทุกคนก็ต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพ และในอุตสาหกรรมนี้โดยส่วนใหญ่ก็ยังคงทำงานแบบ analog แบบเก่าๆอยู่ หรือมีงานปรับไปบ้างก็ไม่ได้มาก ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่ากฎหมายหรือข้อบังคับต่างๆที่มีผลใช้ในการควบคุมการทำงาน หรือการดำเนินธุรกิจกลุ่มนี้ค่อนข้างเข้มงวด 

แนวทางที่พอจะสามารถทำได้ก็คือ ประวัติคนไข้ที่อยู่ในรูปแบบดิจิตอลซึ่งสามารถตรวจสอบประวัติการรักษาโรคย้อนหลังได้ , AI ที่ใช้ในการประเมินโรคเบื้องต้น , การจ่ายยาโดยไม่ต้องพบหมอตัวจริงแบบตัวต่อตัว เป็นต้น แรงต้านทานที่อุตสาหกรรมกลุ่มนี้จะได้เจอเมื่อเริ่มต้นทำดิจิตอลทรานฟอร์เมชั่นก็คือ คุณหมอที่มีอายุมากๆที่ไม่ต้องการจะเปลี่ยนระบบการบริหารงาน หรือ การทำงาน , รูปแบบการบริหารงานของโรงพยาบาลเป็นแบบเดิมเดิม รวมไปถึงบริษัทประกันที่ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลก็อาจจะไม่พร้อมในการปรับตัวด้วย

ดิจิตอลทรานฟอร์เมชั่นในธนาคาร 

กลุ่มธนาคารก็เป็นอีกกลุ่มนึงที่อยู่ห่างจากการใช้นวัตกรรมใหม่ๆเข้ามาเพื่อปรับปรุงงานบริการ เพื่อให้รองรับความต้องการของลูกค้า แต่ในระยะหลังเราก็จะเห็นว่ามีการผลักดันธนาคารในมือถือมากขึ้น และลดจำนวนสาขาลง นั่นก็เป็นการปรับตัวรูปแบบหนึ่งที่ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอล พร้อมกับลดต้นทุนได้ คนไม่ต้องไปธนาคารเพื่อทำธุรกรรมต่อไป แต่ทุกอย่างจะอยู่ในมือถือทั้งหมด นี่จะเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกค้ายังคงมีปฏิสัมพันธ์กับธนาคารได้อยู่ 

สิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับกลุ่มธนาคารก็คือ การเก็บข้อมูลการใช้งานของลูกค้า และนำมาพิจารณาข้อมูลลูกค้าในเชิงลึก เพื่อให้สามารถนำเสนอสินค้าหรือบริการโดยใช้ต้นทุนที่ต่ำลงได้ 

ตัวอย่างเทคโนโลยี Blockchain สามารถนำมาใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนในการทำธุรกรรมระหว่างกันได้ รวมไปถึงรองรับการโอนเงินข้ามประเทศแบบเรียลไทม์ ในแบบที่ไม่มีค่าธรรมเนียมได้ด้วย และการพิจารณาข้อมูลลูกค้าเชิงลึกก็จะช่วยให้เราทราบ Credit Score ของลูกค้าแต่ละคนได้ในแบบเรียลไทม์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการให้สินเชื่อ หรือให้เงินฝากดอกเบี้ยพิเศษได้ด้วย 

ดิจิตอลทรานฟอร์เมชั่นในกลุ่มสื่อสารและโทรคมนาคม 

กลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มแนวหน้าในการทำดิจิตอลทรานฟอร์เมชั่นมาก่อน อย่างยาวนานเพราะว่าเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีโดยตรง 

การทำดิจิตอลทรานฟอร์เมชั่นในกลุ่มนี้จะช่วยให้บริการลูกค้าได้ดีขึ้น นั่นคือการสร้างประสบการณ์ผู้ใช้งานให้ดีขึ้น โดยที่ไม่ต้องใช้คนให้บริการแบบเดิมอีกต่อไป รวมไปถึงการใช้ AI เข้ามาช่วยเสริมความแข็งแรงในด้านความปลอดภัยของระบบด้วย เพื่อให้มั่นใจว่า ทรัพย์สิน digital จะถูกเก็บเอาไว้ด้วยความปลอดภัย

ก็เป็นช่วง 5G network กำลังจะมาถึง ซึ่งจะทำให้เกิดโอกาสใหม่ๆได้อีกหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของเทคโนโลยี IoT ที่จะทำให้อุปกรณ์ทั้งหลายสามารถเชื่อมต่อกันได้ตั้งแต่เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์  บ้าน ไปยันเสาไฟที่อยู่ตามทางเลยทีเดียว

สรุป

น่าจะเข้าใจ แนวทางการทำดิจิตอลทรานฟอร์เมชั่นมากขึ้น ว่าเราควรมีแนวความคิดอย่างไร แง่มุมไหนบ้าง เพื่อให้ประยุกต์ใช้กับธุรกิจเราได้ สิ่งที่สำคัญก็คือ การลงมือทำ และตรวจสอบ พร้อมกับปรับปรุงแนวทางหรือวิธีอยู่เสมอ ทำให้ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าธุรกิจอะไรก็ไม่ต้องกลัวใครจะกล้า disrupt อีกต่อไป