Open Connectivity Foundation คืออะไร

open connectivity foundation

Open Connectivity Foundation คืออะไร สำหรับคนที่จะเริ่มทำ Digital transformation หรือ IoT น่าจะต้องได้ยินคำนี้มาบ้าง (หรือก็ควรทำความรู้จักกันไว้ตั้งแต่ตอนนี้เลย) เพราะว่าเป็นมาตรฐาน ที่กำหนดการเชื่อมต่อหรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันใน IoT network เพราะว่าในอนาคตการที่จะเปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิตอลได้นั้น อุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจก็ต้องปรับตัวเองให้ทำงานในแบบ Digital ด้วย จึงจะสามารถทำงานกันได้อย่างสอดคล้องและต่อเนื่อง รวมทั้งยังมีข้อดีในการเก็บข้อมูลจากอุปกรณ์เหล่านั้น (sensor) เพื่อนำมาประมวลผล (data) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรื่องการ ซ่อมบำรุง การตรวจนับความถูกต้องในการทำงาน หรือประสิทธิผลของอุปกรณ์เหล่านั้นก็ตาม 

โลกอนาคต คือ การเชื่อมต่อของอุปกรณ์ต่างๆ เข้ามาด้วยกัน

เมื่อสักสิบปีก่อน ใครจะคิดว่าตู้เย็นธรรมดา จะมีหน้าจอและเริ่มตรวจสอบอาหารที่เก็บอยู่ในตู้เย็นได้ ในตอนแรกที่ตู้เย็นเหล่านี้ออกวางขาย หลายคนก็พากันตลกและเยาะเย้ยว่ามันจะต้องมีสิ่งนั้นไปเพื่ออะไร พอแค่เปิดดูก็เห็นว่ามีอะไรอยู่ในตู้เย็น แล้วเราก็บริหารจัดการของที่อยู่ในตู้เย็นได้ ด้วยตัวของเราเองอยู่แล้ว 

ในระดับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีห้องเย็นเป็นตัวเก็บวัตถุดิบ เขาจะมีการตรวจนับสินค้าที่เข้าและออกห้องเย็นอย่างเป็นระบบ นั่นก็คือการมี Scanner เพื่อสแกนสินค้าก่อนนำเข้าไปเก็บในตู้เย็น และเมื่อนำสินค้าออกมาจากตู้เย็นก็ต้องสแกนออกด้วยเช่นกัน การทำแบบนี้เราจะรู้ทันทีว่าคนที่นำอาหารเข้าไปเก็บและนำอาหารออกมานั้นได้ปฏิบัติตามหลักการ First In First Out หรือไม่ และเมื่อเราเชื่อมต่อข้อมูลจากตู้เย็นออกมา เราก็จะรู้ทันทีว่าในตอนนี้มีวัตถุดิบอะไรอยู่ในตู้เย็นบ้างและเหลืออีกปริมาณเท่าไหร่ รวมทั้งรู้อายุได้ทันทีว่าอาหารหรือวัตถุดิบไหนเก็บมานานเท่าไหร่แล้ว อะไรที่หมดอายุแล้วต้องนำออกไปทิ้ง หรืออะไรที่กำลังจะหมดและเราต้องซื้อเพิ่มแล้ว โดยที่ไม่ต้องใช้คนในการตรวจนับทุกๆวันอีกเลย ทีนี้กลับมาที่ระดับครัวเรือน ก็จะไม่แตกต่างกันในอนาคต อาหารที่เราหยิบเข้าออก ตู้เย็นจะบอกเราได้ว่ายังเหมาะสมควรกินหรือว่า หมดอายุแล้วต้องทิ้ง เวลาที่เราสั่งซื้อของ เราจะกดดูจากมือถือได้ทันที ว่าเรายังเหลืออะไรในตู้เย็นอีกบ้าง โดยที่เราไม่ต้องเดินไปเปิดเลย หรือ สั่งอาหาร online มาเติมได้แม้ว่าตัวเรายังอยู่ในที่ทำงานด้วยซ้ำ ของเหลือทิ้งจะลดน้อยลง และเราได้กินอาหารที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง นี่ยังไม่นับเรื่องที่อนาคตตู้เย็นจะสั่งอาหารมาให้เราด้วยตัวเอง โดยที่เราไม่ต้องเป็นคนดำเนินการอีกเลย เราแค่ review และ อนุมัติเท่านั้น

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งก็คือการบริหารจัดการสินค้าที่เก็บอยู่ใน Warehouse เรื่องนี้ก็มีตัวอย่างให้เห็นที่เป็นแบบโลกยุคใหม่อย่างเช่น Amazon ที่เขาปรับคลังสินค้าของตัวเองให้เป็นแบบอัตโนมัติมาตั้งนานหลายปีแล้ว เมื่อเข้าไปในคลังสินค้าส่วนที่จัดเก็บสินค้าและส่วนที่ นำสินค้าออกมาจาก shelf จะไม่มีคนเข้าไปเกี่ยวข้อง คนจะเกี่ยวข้องแค่การหยิบสินค้าออกมาเพื่อบรรจุลงในกล่องเท่านั้นโดยไม่ต้องเดินไปไหนเลย เพราะว่าสินค้าจะเคลื่อนที่มาให้คนหยิบ คนก็มีหน้าที่หยิบแค่ตามจำนวนเพื่อมารวมในการสั่งซื้อเดียวกันเท่านั้น ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้เพราะอุปกรณ์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นชั้นที่เก็บ หรือหุ่นยนต์ที่เคลื่อนที่ไปหยิบ ทำงานเชื่อมต่อกันเข้ามาเป็นระบบเดียวกัน และพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกันตลอดเวลา

สิ่งที่ได้ก็คือเขาสามารถบริหารจัดการคำสั่งซื้อได้วันหนึ่งเป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้าเราไม่มีระบบเหล่านั้นแล้วเราต้องใช้คน ก็จะต้องมีคนจำนวนนับพันคนที่เดินชนกันไปชนกันมาอยู่ในคลังสินค้าแน่นอน และเมื่อมีคนจำนวนมากก็จะต้องบริหารเรื่องคนซึ่งนั่นเป็นเรื่องยาก และยังไม่นับรวมของ Human error ที่จะสร้างความยุ่งยากตามมาในภายหลังอีก 

เมื่อเชื่อมต่อกันแล้ว จึงเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล

แน่นอนว่าอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันคงไม่ได้แค่จะเชื่อมเพื่อทำความรู้จักกันเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญก็คือการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน หรือจากระบบอื่น ทำให้การทำงานในแต่ละส่วนสามารถทำงานสอดประสานและสอดคล้องกันได้ ผมยกตัวอย่างจริงที่ผมเคยไปดูงานมาแห่งหนึ่ง เขาเป็นห้างที่ขายสินค้าสดขนาดใหญ่ มีจำนวนหลายสาขาในประเทศไทย คำถามก็คือ เขาจะบริหารอาหารสดอย่างไรให้มีการเคลื่อนไหวเข้ามา แล้วออกไปได้อย่างเร็วที่สุดและถูกต้องด้วย ทั้งหมดนี้ เขานำระบบในการ tracking เข้ามาใช้อย่างเต็มระบบ ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่กระบวนการรับเข้า เมื่อรับเข้าเรียบร้อยระบบจะรู้ว่ามีอะไรที่เข้ามาอยู่ใน warehouse แล้วบ้างและจะไปทำงานแลกเปลี่ยนเพื่อเชื่อมกับระบบควบคุมส่วนกลาง ที่ดูปริมาณการสั่งซื้อของแต่ละสาขา จากนั้นระบบก็จะสั่งลงไปว่าสินค้าเหล่านี้ต้องแบ่งเป็นกี่ส่วนแล้วแยกไปกี่เส้นทาง แต่ระบบที่ผมไปดูยังใช้คนในการดำเนินการคัดแยกเพื่อแบ่งส่วนอยู่ เมื่อแบ่งส่วนเรียบร้อยแล้วก็จะเข้าไปอยู่ในโซนรอการจัดส่งออกจาก Warehouse และเมื่อรถขนสินค้ามาพร้อมแล้วก็จะทำการตรวจสอบเพื่อนับสินค้าก่อนออกจากคลังสินค้า และนำไปสู่กระบวนการจัดส่งในลำดับต่อไป ตลอดทุกกระบวนการก็จะมีการตรวจนับโดยใช้ Scanner เพื่อเป็นการยืนยันจำนวนและความถูกต้อง อีกทั้งบันทึกข้อมูลลงไปที่ระบบส่วนกลางตลอดเวลา กระบวนการทั้งหมดนี้ใช้เวลาสั้นมากไม่เกิน 8 ชั่วโมงเข้ามาจนออกไปต่อ เพื่อให้คงความสดของสินค้าได้อย่างมากที่สุด 

จะเห็นได้ว่าเมื่อมีอุปกรณ์เป็นจำนวนมากที่อยู่ในกระบวนการทำงานแล้ว อุปกรณ์แต่ละตัวจำเป็นจะต้องทำงานสอดคล้องประสานกันต่อเนื่อง โดยการใช้การแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลจากส่วนกลางเพื่อให้เกิดการทำงานได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อเป็นอุปกรณ์ต่างๆการทำงานร่วมกัน จึงสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆได้ตลอด 24 ชั่วโมงเพราะไม่ต้องอาศัยคนหรือความสามารถของคนในกระบวนการคิดหรือตัดสินใจเลย 

Open Connectivity Foundation คืออะไร 

เมื่อมีการเชื่อมต่อจากอุปกรณ์เป็นจำนวนมาก อีกทั้งในปัจจุบันก็มีวิธีการเชื่อมต่อที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแบบมีสายหรือไร้สาย รวมไปถึงการเชื่อมต่อแบบไร้สายเองก็ยังมีหลากหลายรูปแบบที่สามารถเลือกใช้งานได้อีก 

Open Connectivity Foundation (OCF) คือมาตรฐานที่กำหนดรูปแบบของเทคโนโลยีที่ใช้ในการออกแบบการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆเข้าด้วยกัน เราสามารถนำมาใช้กับการเชื่อมต่อในรูปแบบของ IoT ได้ จุดมุ่งหมายก็คือเพื่อสร้าง Framework สำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันบนระบบ IP , การระบุการค้นหาอุปกรณ์, การเพิ่มอุปกรณ์ใหม่, การค้นหารูปแบบของข้อมูล และกระบวนการควบคุมทั้งหมด 

การทำงานทั้งหมดนี้จะทำงานอยู่บนพื้นฐาน IP ซึ่งเป็นรูปแบบการเชื่อมต่อโดยพื้นฐานที่ใช้กันแพร่หลายอยู่แล้วในปัจจุบัน (เวลาที่เราใช้งาน internet เล่น website ก็ทำงานบนพื้นฐาน IP ด้วยเช่นกัน) ความตั้งใจที่ทำให้เกิด OCF ขึ้นมาก็เพื่อที่จะทำให้ Application ต่างๆที่ทำงานร่วมกันนั้นทำงานได้แบบเรียบง่ายมากที่สุด 

Layer ต่างๆของการเชื่อมต่อ

และในกระบวนการทำงานก็ยังมีการใช้รูปแบบของ state transfer (REST) ซึ่งเป็นรูปแบบการทำงานของ web Application ที่ใช้แลกเปลี่ยนข้อมูลกันโดยทั่วไปในปัจจุบัน แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนบ้างเล็กน้อยเพื่อให้เหมาะสมกับอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็กดังนั้น HTTP ก็ถูกทดแทนด้วย binary variant CoAP และตัวข้อมูลที่เป็น JSON ก็ถูกบีบอัดให้เป็นรูปแบบ CBOR เพื่อทำให้ขนาดข้อมูลมีขนาดที่เล็กลง หาข้อมูลทั้งหมดก็จะแลกเปลี่ยนโดยมีมาตรฐานความปลอดภัยคือ datagram transport layer security (DTLS) เอาเป็นว่าเราจะไม่ลงไปลึกกว่านี้ เพราะจะเป็นเรื่องเชิง Technical มากเกินไป

ใช้ OCF สร้างอะไรได้บ้าง

  • เพื่อเป็นการสื่อสารระหว่างกันเองใน Local Network  เช่น ให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างอุปกรณ์ที่อยู่ในโกดังสินค้าเดียวกัน
  • เพื่อเป็นการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ใน Local Network และ Cloud เช่นอุปกรณ์บางตัว สามารถนำข้อมูลขึ้นไปเก็บบน Cloud หรืออุปกรณ์บางตัวก็รับคำสั่งมาจากเซิร์ฟเวอร์ ที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เดียวกันเพื่อไปทำงานบางอย่างต่อไป
  • เพื่อเป็นการสื่อสารระหว่าง Cloud ด้วยกันเอง เช่น Server หนึ่ง ที่ทำงานเป็นระบบควบคุมเรื่องสินค้าคงคลัง เมื่อได้รับข้อมูลการจัดส่งสินค้าแล้ว ก็ส่งข้อมูลไปอีก อีก server หนึ่ง ที่อยู่ต่างที่กัน เช่น ธนาคาร เพื่อให้ธนาคารชำระเงินให้ คู่ค้าต่อไป

ทำให้การเชื่อมต่อมีมาตรฐาน และ มีความปลอดภัย

คงจะไม่ดีแน่ถ้าอุปกรณ์ต่างๆที่อยู่ในการดูแลของบริษัท ถูกผู้ไม่ประสงค์ดีเข้าครอบครองยึดเพื่อไปทำงานบางอย่างที่ไม่ปกติ หรือแอบมาดูดข้อมูลบางอย่างในการทำงานออกไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้นการทำให้เกิดความเชื่อมต่อร่วมกันในแบบที่มีความปลอดภัยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นต้องใส่ใจ ไม่ใช่แค่เพียงให้ทำงานได้แต่ต้อง ถูกต้องและมีความปลอดภัยด้วย 

ลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว

ถ้าเราสร้างระบบการเชื่อมต่อระหว่างกัน ถูกสร้างมาโดย framework ที่มีมาตรฐานแล้ว ดังนั้นในการจะขยายขอบเขตหรือจำนวนอุปกรณ์ หรือการทำงานในรูปแบบใหม่ในอนาคต ถ้ายังทำงานอยู่บน framework เดียวกันได้ ก็จะลดเวลาในการศึกษาและลดเวลาในการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยต่างๆลงได้ เพราะใน framework ได้มีการกำหนดมาตรฐานเรื่องดังกล่าวไว้ทั้งหมดแล้ว รวมทั้งเมื่อเวลาผ่านไปก็ไม่ต้องมาตามหาเอกสารของคนเก่าๆ เพราะว่ามาตรฐานนี้เป็นมาตรฐานกลางที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลายอยู่แล้ว

ต้องการอ่าน Paper ตัวเต็ม

สำหรับรายละเอียด spec ต่างๆและ Paper ที่เขียนรายละเอียดในเรื่องราวต่างๆเอาไว้สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่  https://openconnectivity.org/ ซึ่งเป็นช่องทางหลัก ดังนั้น ในการ implement งานใดๆครั้งต่อไป เราก็จะมั่นใจได้ว่า ได้ทำอย่างถูกต้อง ตามหลักปฏิบัติสากล เพื่อลดความเสี่ยงในการถูก hack หรือ ความไม่สอดคล้องกับระบบอื่น รวมไปถึง ง่ายต่อการต่อยอดในอนาคตอีกด้วย