ทำความรู้จักเครือข่าย 5G กับการสร้าง นวัตกรรม ไร้สาย ไปได้ทุกที่

remote work by 5G network

การมาถึงของเครือข่าย 5G กับการสร้าง นวัตกรรม นั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ เพราะเป็นส่วนที่สนับสนุนให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ได้จริง

การพัฒนาโลกในด้านดิจิตอล ต่างก็ต้องอาศัยการให้บริการขั้นพื้นฐาน หรือที่เราเรียกว่า infrastructure เปรียบได้เหมือนกับว่า ถ้าเราต้องการ ขนส่งสินค้าจากจังหวัดหนึ่งไปอีกจังหวัดหนึ่ง เราก็ต้องมีถนนเรียบ และรถขนส่งก็สามารถทำความเร็วได้สูง เพื่อให้สินค้าไปส่งได้ด้วยความปลอดภัยและใช้เวลาสั้น นั่นหมายความว่า จะสามารถทำรอบการขนส่งได้มากขึ้น หรือหมายความว่ามีต้นทุนการขนส่งที่ถูกลง ในโลกของอินเทอร์เน็ต ก็มีทั้งการเชื่อมต่อแบบมีสายและแบบไร้สาย ปัจจุบันการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบมีสาย ก็ไปเน้นกันที่เรื่องของความเร็ว เราจะเห็นว่าปัจจุบันมีอินเทอร์เน็ตแพคเกจ 1000 Mbps ขายกันแล้ว ส่วนในฝั่งของอินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย ก็จะมีข้อดีในการเชื่อมต่อระหว่างผู้ใช้บริการเข้ากับผู้ให้บริการหรือเจ้าของกิจการ ได้ตลอดเวลา และทุกที่ อีกทั้งเป็นการเพิ่มความสะดวก ในยุคอนาคตอีกด้วย 

วันนี้ก็เลยจะพาทุกคนมาทำความรู้จักเครือข่ายมาตรฐานใหม่ 5G ว่ามีประโยชน์อย่างไรและจะมีข้อดีต่อธุรกิจหรือชีวิตประจำวันของเราอย่างไรบ้าง 

ประวัติของเครือข่ายไร้สายในแต่ละ Generation 

Generation แรก – 1G

เริ่มต้นประมาณปี 1980 ส่งคลื่นเสียงแบบ Analog เท่านั้น

Generation ที่ 2 – 2G

เริ่มต้นประมาณตอนต้นของปี 1990 เริ่มมีการเปลี่ยนระบบเสียงเป็นแบบ Digital และเริ่มมี GPRS Edge Internet ที่ความเร็วต่ำมาก อีกทั้งไม่เสถียรด้วย 

Generation ที่ 3  – 3G

เริ่มต้นประมาณปี 2000 เน้นการพัฒนาในด้านการรับส่งข้อมูลเป็นหลัก ทำให้การเชื่อมต่อเพื่อใช้งานข้อมูลรวดเร็วมากขึ้น

Generation ที่ 4 – 4G

เริ่มต้นที่ประมาณปี 2010 เน้นเรื่องการพัฒนาความเร็วในการรับส่งข้อมูลและความเสถียรรวมไปถึง สามารถรวมความเร็วเข้ากับระบบ WiFi ได้ ซึ่งปัจจุบันคนส่วนใหญ่ได้ใช้งานในระบบ 4G นี้อยู่ 

เจนเนอเรชั่นที่ 5  – 5G

เรากำลังจะก้าวเข้าสู่ยุค 5G ในอีกไม่นานนี้ สายเครือข่ายผู้ให้บริการเริ่มมีเสาสัญญาณเพื่อใช้ในการทดสอบและเริ่มขยายโครงข่ายออกไปเรื่อยๆแล้ว ช่วงที่ผ่านมาน่าจะเคยได้ยินปัญหาผู้ให้บริการโครงข่ายหยุดให้บริการชั่วคราว เหมือนเครือข่ายล่ม แต่จริงๆแล้วเกิดจากความผิดพลาดในการอัพเกรดให้เป็น 5G ในบางพื้นที่ จึงทำให้พื้นที่นั้นไม่สามารถใช้โทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตได้เป็นการชั่วคราว 

โดยเป้าหมายหลักของ 5G ก็คือการขยายขีดความสามารถและการเชื่อมต่อเข้าเป็นหนึ่งเดียวในแบบไร้สาย เพื่อสร้างให้เกิดโครงข่ายให้บริการในระดับพื้นฐานที่นำไปต่อยอดพัฒนาออกมาเป็นบริการใหม่ๆได้ในอนาคต อย่างที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น ก็เหมือนการสร้างถนนที่ทำให้รถวิ่งได้เร็วและเรียบมาก ลดการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มความเร็วในการขนส่งให้มากขึ้น ทีนี้เราจะขนส่งสินค้าอะไร หรือจะมาประยุกต์ใช้เป็นการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบก็ไม่มีปัญหาแล้ว เพราะถนนถูกสร้างขึ้นมาอย่างดีมาก 

สิ่งที่เขาให้ความสำคัญในตอนที่สร้าง 5G ขึ้นมาก็คือความเร็วในการเชื่อมต่อ, ลดเวลาหน่วงในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งขาไปขากลับ เพื่อรองรับการใช้บริการในหลากหลายรูปแบบไล่ตั้งแต่ การใช้บริการในรูปแบบที่ไม่ต้องใช้ข้อมูลเยอะแต่เน้นความแม่นยำ คือการควบคุมระยะไกล เช่น การขับรถผ่านสัญญาณอินเตอร์เน็ตของโทรศัพท์มือถือ ไปจนถึงการใช้ข้อมูลเยอะอย่างเช่นกัน streaming เพลงหรือภาพยนตร์ 

ข้อดีของ 5G

International Telecommunication Union (ITU) ซึ่งเป็นหน่วยงาน กำกับมาตรฐานทาง Technical ของ UN ได้ร่วมกันสร้างมาตรฐานที่เป็นข้อกำหนดขั้นต่ำทั้งหมด 13 ประการเอาไว้สำหรับเครือข่าย 5G ผมจะยกส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ของคนทั่วไปมาเพียงบางข้อ สาเหตุเพราะว่าที่เหลือเป็นเรื่องของทาง Technical ที่คนทั่วไปไม่จำเป็นต้องรู้และเข้าใจก็ได้จะงงเปล่าๆ ดังนี้ 

  • Downlink data peak 20Gbit/s , Uplink data peak 10Gbit/s นี่คือค่าสูงสุดที่เป็นไปได้ ไม่ได้หมายความว่าเป็นขั้นต่ำ และนี่เป็นความเร็วสูงสุดที่ทำงานได้ในการรับส่งข้อมูลทุกอย่าง ปัจจัยหลักขึ้นอยู่กลับคลื่นความถี่ที่เราใช้งาน
  • Downlink user experience data rate 100Mbit/s , Uplink user experience data rate is 50 Mbit/s นี่จะเป็นความเร็ว ที่ Application ต่างๆในเครื่องเราสามารถใช้งานได้
  • Latency อยู่ที่ 1-4 ms 
  • ความหนาแน่นของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ 1 ล้านอุปกรณ์ ต่อ 1 ตารางกิโลเมตร
  • ใช้พลังงานต่ำเมื่อไม่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล
  • ความเสถียรตกลงไม่มาก เมื่อ ใช้บนพาหนะเคลื่อนที่ความเร็วสูง โดยรองรับความเร็วสูงสุดได้ที่ 500 km/h เลย ก็ยังคงใช้งานได้
  • มี interrupt time หรือช่วงเวลาที่ขาดการเชื่อมต่ออยู่ที่ 0 ms

จะเห็นได้ว่านี่เป็นการเชื่อมต่อที่ดีมากๆ ดีกว่าอินเตอร์เน็ตบ้านแบบมีสาย หลายเท่าตัวเลยทีเดียว ที่สำคัญมันเป็นไร้สาย แต่สุดท้ายประสิทธิภาพการใช้งานก็จะไปขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการเครือข่ายหรือการติดตั้งเสาสัญญาณ และอุปกรณ์ที่ใช้งานเป็นหลัก ดังนั้นเวลาที่เราใช้งานจริงอาจจะใช้งานได้ไม่เต็มเท่านี้ แต่นี่ก็ถือว่าดีมากแล้ว 

เราสามารถประยุกต์ใช้งานอะไรได้บ้าง 

แน่นอนว่ากลุ่มที่จะได้ประโยชน์ที่สุดก็คือการสร้างนวัตกรรม การเชื่อมต่อแบบ IoT เพราะต้องอาศัยการเชื่อมต่อแบบไร้สายเป็นพื้นฐานการพัฒนา, การสร้างนวัตกรรมแบบควบคุมระยะไกลไร้สาย, การสร้างนวัตกรรมที่ต้องการการเชื่อมต่อแบบไร้สาย ด้วยความไม่สะดวกของพื้นที่ หรืออื่นๆ, การสร้างนวัตกรรมที่ต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้วยความรวดเร็วแบบไร้สาย รวมไปถึง การสร้างนวัตกรรมที่ต้องการการเชื่อมต่อกันตลอดเวลา (real time) ในแบบเคลื่อนที่ไปด้วย

สิ่งที่จะมาพร้อมกับ  5G

เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า 5G กับการสร้าง นวัตกรรม นั้นมีความสันพันธ์กัน เพราะทำให้มีการเชื่อมต่อที่รวดเร็วขึ้น รองรับการเชื่อมต่อด้วยข้อมูลปริมาณที่มากขึ้น แต่ราคาที่จ่ายต่ำลง ดังนั้นเราอาจจะไม่ต้องเป็นกังวลในการสร้างนวัตกรรมที่จำเป็นต้องใช้การรับส่งข้อมูลจำนวนมาก เพราะโลกอนาคตเป็นโลกของข้อมูล การเริ่มต้นเก็บข้อมูลต่างๆจากอุปกรณ์วัดต่างๆแบบไร้สายเพื่อเป็นข้อมูลในการหา insight ในอนาคตก็ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ควรจะเริ่มคิดและทำได้ตั้งแต่ตอนนี้ 

ผมได้คุยกับหลายคนถึงแนวความคิดว่า เมื่อก่อนใครที่ขุดบ่อน้ำมันได้ปัจจุบันเขาก็เป็นเศรษฐี แต่อนาคตใครที่มีข้อมูลและสามารถสกัดข้อมูลเหล่านั้นออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับธุรกิจได้ เขาจะเป็นเศรษฐีในอนาคต ถ้าจะไม่พูดถึงอนาคตก็ยกให้ Facebook, Google เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด จากการที่มีข้อมูลการใช้งานเป็นจำนวนมหาศาลจากคนทั่วโลก ก็ทำให้เป็นบริษัทชั้นนำของโลกได้ในเวลาเพียงไม่กี่ปี 

ผมยังคงย้ำอยู่คำเดิมเรื่อยๆว่า Digital transformation มันไม่ใช่เพียงแค่การนำเครื่องมือมาใช้ แต่มันประกอบมาจากแนวทางการประยุกต์ใช้ในหลายเรื่อง รวมไปถึงการปรับการทำงาน ยาวไปถึงวัฒนธรรมขององค์กร ดังนั้นบริษัทไหนที่ใช้ 5G ก่อนก็ไม่ได้แปลว่าจะได้เปรียบบริษัทอื่น เพราะ 5G ก็เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการประกอบการทำ Digital transformation เท่านั้น